มาตรฐาน ERC ที่อยู่เบื้องหลัง NFT

มาตรฐาน ERC ที่อยู่เบื้องหลัง NFT

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังโทเคนลักษณะเฉพาะตัว (Non- Fungible Token: NFT) นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในนั้นคือ บล็อกเชน (Blockchain) แต่อะไรหล่ะที่เป็นตัวกำหนดว่าโทเคนนั้นคือ NFT ? 



มาตรฐานที่อยู่เบื้องหลัง NFT คืออะไร



โดยทั่วไปแล้ว การจะสร้างเหรียญใด ๆ ออกมาจำเป็นต้องมีมาตรฐานรองรับ เนื่องจากทุกคนสามารถสร้างเหรียญของตัวเองได้ ถ้าไม่มีการกำกับดูแลเลยก็อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายให้กับผู้พัฒนาหรือผู้ที่ต้องการใช้เหรียญนั้น ๆ เช่น การพัฒนาเหรียญออกมาแต่เกิดช่องโหว่หรือมีองค์ประกอบสำหรับการใช้ติดต่อ ถ่ายโอน หรือลกเปลี่ยนกันไม่ครบถ้วน เป็นต้น



มาตรฐานที่เกิดขึ้นมานี้จะช่วยให้เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นสามารถทำให้ทุกคนใช้ร่วมกันได้ หากนึกภาพไม่ออก คุณอาจจะนึกถึงพาสปอร์ต ที่แต่ละประเทศต้องมีชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ และสัญชาติเสมอ เพื่อยืนยันตัวตนและรู้ที่มาของบุคคลนั้น ๆ เป็นต้น



ในบทความนี้เราจะพูดถึงมาตรฐาน ERC ที่เป็นมาตรฐานของเครือข่าย Ethereum และเป็นตัวกำหนดว่าโทเคนใดคือ NFT ซึ่งปัจจุบัน เครือข่ายอื่นก็มีมาตรฐานแบบนี้เช่นกัน เช่น NEP-171 ที่เป็นของ Near Protocol หรือ KAP-721 ของ Bitkub Chain เป็นต้น แต่ลักษณะทั่วไปก็จะคล้าย ๆ กัน





มาตรฐาน ERC



ERC (Ethereum request for comment) คือ ข้อตกลงหรือมาตรฐานที่ต้องปฎิบัติตามในการพัฒนาเหรียญใด ๆ ในบล็อกเชน Ethereum ตามข้อกำหนดและรูปแบบการใช้งานนั้น ๆ เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และง่ายต่อการปรับปรุงแก้ไข



ในมาตรฐานที่ตกลงกันนี้ ก็จะมีชุดคำสั่งสำหรับการพัฒนาที่ต้องเป็นไปตามข้อตกลงจึงจะสามารถดำเนินการบนบล็อกเชน Ethereum ได้ หากคุณไม่พัฒนาเหรียญให้เป็นไปตามมาตรฐานก็จะไม่สามารถออกเหรียญได้นั่นเอง



โดยมาตรฐาน ERC-721 และ ERC-1155 นั้นคือมาตรฐานสำหรับโทเคน NFT ซึ่งเป็นประเภทสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายปี 2020 และต้นปี 2021





มาตรฐาน ERC-721 จุดเริ่มต้นของ NFT



ERC-721 คือมาตรฐานสำหรับ NFT ดั้งเดิม ถูกเสนอโดย William Entriken, Dieter Shirley, Jacob Evans และ Nastassia Sachs ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2018 โดยข้อมูลในแต่ละโทเคนจะมีค่าที่ไม่ซ้ำกัน เจ้าของสามารถทำการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของตัวเองได้ ทำให้มาตรฐานนี้สามารถนำไปสร้างเป็นโทเคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะได้ เช่น ไอเทมภายในเกม, ลอตเตอรี่ และผลงานศิลปะที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น



ERC-721 ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเกม CryptoKitties เป็นเกมที่ให้คุณเป็นเจ้าของ ผสมพันธุ์ และจับคู่ตัวละครแมวเสมือนจริง ลูกแมวแต่ละตัวถูกแทนด้วยโทเคน ERC-721 และจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน





มาตรฐาน ERC-1155 กับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น



ERC-1155 ถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานของ NFT เป็นครั้งแรกโดย Enjin เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2018 โดยแนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลัง ERC-1155 คือการสร้างสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพียงสัญญาเดียวสามารถควบคุมโทเคนได้ไม่จำกัดจำนวน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนค่าธรรมเนียม (Gas) ได้อย่างมาก และเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม เนื่องจากไม่ต้องรอบรรจุลงบล็อกมากเหมือนแต่ก่อน



ตัวอย่างเช่น หากคุณมี NFT (ERC-721) จำนวน 10 ชิ้น และคุณต้องการโอนให้ผู้ที่ซื้อผลงานคุณ คุณจำเป็นต้องทำธุรกรรมทั้งหมด 10 ครั้ง ซึ่งเป็นการเสียค่าธรรมเนียมที่ซ้ำซ้อน แต่ถ้าเป็น ERC-1155 คุณสามารถโอนตัวละครในเกมที่มียาฟื้นพลังหลายขวดหรือลูกธนูหลายดอกอยู่ในตัวไปพร้อม ๆ กันได้



นอกจากนี้ ERC-1155 ยังมาพร้อมคุณสมบัติด้านความปลอดภัย ในกรณีที่คุณโอนไปยังปลายทางที่ไม่ถูกต้อง โทเคนที่ทำธุรกรรมนั้นจะถูกตีกลับมายังผู้ส่ง





สรุป



มาตรฐาน ERC-721 เป็นต้นแบบของการสร้าง NFT ซึ่งยังมีข้อจำกัดด้านการทำธุรกรรมที่ล่าช้า และความเร็วในการยืนยันธุรกรรม ในกรณีที่ต้องการทำธุรกรรมจำนวนมาก การมาของ ERC-1155 ทำให้ NFT สามารถทำธุรกรรมจำนวนมากได้ภายในสัญญาเดียว พร้อมทั้งยังป้องกันการสูญเสียโทเคนทั้งหมดในกรณีที่ผู้ใช้ส่งไปยังปลายทางที่ไม่ถูกต้องได้อีกด้วย





อ้างอิง:



Bitcoinaddict, coinmarketcap - ERC-721, coinmarketcap - ERC-1155, ethereum, bit2me, enjincoin, nomicon

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด