Avalanche (AVAX) คืออะไร?

Avalanche (AVAX) คืออะไร?

เหรียญ AVAX คืออะไร และมีประโยชน์การใช้งานอย่างไร?

AVAX คืออะไร? Avalanche ใช้งานอย่างไรได้บ้าง? มาค้นพบคำตอบวันนี้ที่ Bitkub Academy!

Avalanche (AVAX) คืออะไร? 



Avalanche (AVAX) คือเครือข่ายบล็อกเชนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (dApps) ผ่านการทำงานของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) โดยที่มีสกุลเงินกลางคือ AVAX ในการใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ บนเครือข่าย มากกว่าที่จะเป็นแค่การส่งมูลค่าทางการเงิน (Store of Value)





ทีมผู้พัฒนา



เครือข่าย Avalanche ถูกสร้างโดย Ava Labs ด้วยการร่วมมือระหว่าง Emin Gün Sirer, Kevin Sekniqi, และ Maofan “Ted” Yin ในปี ค.ศ. 2018 ก่อนที่จะมีการระดมทุน (Initial Coin Offering) ในปี ค.ศ. 2020 โดยทีมผู้สร้างต้องการให้ Avalanche เป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีค่าธรรมเนียมต่ำ มีโครงสร้างที่สามารถพัฒนาได้ง่ายกว่า พร้อมมีการกระจายอำนาจ (Decentralization)  และความปลอดภัย (Security) ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย





การทำงานเบื้องหลังเครือข่าย Avalanche 



เครือข่ายของ Avalanche ได้สร้างบล็อกเชนออกมาเป็น 3 แบบให้สามารถทำงานร่วมกันภายในเครือข่ายได้นั้นก็คือ X-Chain, C-Chain, และ P-Chain  ซึ่งทีมผู้สร้างได้ออกแบบโครงสร้าง กลไกการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้มีความเฉพาะทางในแต่ละ Chain เพื่อพัฒนาการทำงานเฉพาะด้านให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 



X-Chain (Exchange Chain) คือบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนหรือส่งต่อมูลค่า ด้วยสกุลเงินหลักอย่าง AVAX หรือโทเคนสกุลอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่ง Exchange Chain จะมีการทำงานด้วยระบบฉันทามติอย่าง Avalanche Consensus 



C-Chain (Contract Chain) คือบล็อกเชนที่ผู้สร้างหรือนักพัฒนาสามารถ ร่าง Smart Contract เพื่อสร้าง dApps ต่าง ๆ บนเครือข่ายของ Avalanche ด้วยระบบฉันทามติอย่าง Snowman Consensus และนักพัฒนายังสามารถนำภาษาโปรแกรมของ Ethereum มาใช้งานและสร้าง dApps ขึ้นบน Avalanche ได้อีกด้วย



P-Chain (Platform Chain) คือบล็อกเชนที่เชื่อมต่อเน็ตเวิร์คย่อย (subnets) ต่าง ๆ เข้ากับบล็อกเชนภายในเครือข่าย Avalanche ให้ผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator) สามารถตรวจสอบความถูกต้องและรักษาความปลอดภัยให้เครือข่ายได้ ระบบมีการทำงานด้วยกลไกฉันทามติอย่าง Snowman Consensus เช่นกัน



การผสมการทำงานของ 3 บล็อกเชนเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาความเร็วในการทำธุรกรรมให้รวดเร็วขึ้น โดยที่ไม่กระทบต่อการทำงานแบบกระจายอำนาจ และ subnets จะเชื่อมต่อ Validator กับการทำงานเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเครือข่าย





เทคโนโลยีที่น่าสนใจ



ฟังก์ชัน Smart Contract สามารถสร้างแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (dApps) รูปแบบต่าง ๆ ขึ้นภายในเครือข่าย ไปจนถึงการสร้างโทเคน หรือ NFTs (Non-Fungible Tokens)  ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทดแทนกันได้เหมือนสกุลเงินดิจิทัล (Fungible Token) ที่ทุกคนไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสกุลเงินประเภทนั้น ๆ เช่น Bitcoin หรือ Ethereum



ในแง่ของระบบฉันทามติ หรือ Consensus Algorithm นั้น Avalanche มีโครงสร้างการทำงานคล้ายกับ Proof-of-Stake ผู้ใช้สามารถยกระดับความปลอดภัยให้กับเครือข่ายผ่านการล็อกเหรียญ (Staking) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม เสริมสร้างการทำงานแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) และยังแก้ไขปัญหาการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ



แต่ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะจริง ๆ แล้ว Avalanche ทำงานด้วยกลไกฉันทามติแบบเฉพาะอย่าง Avalanche และ Snowman ซึ่ง Avalanche Consensus ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่าง DAG (Directed Acyclic Graph) เพื่อสุ่ม Validator ในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม โดยระบบจะทำงานคู่ขนานไปพร้อม ๆ กันไม่จำเป็นต้องรอให้ระบบยืนยันธุรกรรมต่อธุรกรรมถึงจะดำเนินต่อได้



Snowman Consensus จะมีการทำงานที่คล้ายกับ Avalanche Consensus ที่การทำงานของระบบจะมีการเรียงลำดับไม่ใช่ทำงานไปพร้อม ๆ กัน จึงเหมาะสมกับการใช้งานฟังก์ชันอย่าง Smart Contract เป็นต้น



มากไปกว่านั้น ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมจะถูกเผาอยู่เสมอ ส่งผลให้ระบบนิเวศของ Avalanche มีความแข็งแกร่งและควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย โดยทั่วไป เครือข่ายที่ไม่มีการกำหนดปริมาณเหรียญทั้งหมดในเครือข่าย อาจส่งผลให้เกิดการเฟ้อที่มากขึ้น และส่งผลในแง่ลบต่อราคาเหรียญนั้น ๆ จากจำนวนเหรียญ (Supply) ที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ วัน



Avalanche คือเครือข่ายแบบเปิด (Open-Sourced) ที่ผู้พัฒนาสามารถแบ่งปันชุดโค้ดสำหรับการร่าง Smart Contract เพื่อสร้าง dApps ต่าง ๆ ให้เกิดการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นเป็นวงกว้าง และเครือข่าย Avalanche ยังรองรับภาษาโปรแกรมแบบเดียวทาง Ethereum (Ethereum Virtual Machine)



ประโยชน์ของการรองรับเครื่องมือ หรือภาษาโปรแกรมในการพัฒนาแบบเดียวกับ Ethereum จะสามารถดึงดูดนักพัฒนาเข้ามาสร้าง dApps บน Avalanche ได้มากขึ้นด้วย Smart Contract แบบเดิม และจุดเด่นในแง่ของความเร็วในการทำงานที่สูงและค่าธุรกรรมต่ำก็จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้ได้อีกด้วย



ที่มาของการทำงานระหว่าง X-Chain, C-Chain, หรือ P-Chain นั้น ก็เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ผู้สร้าง หรือเครือข่ายบล็อกเชนต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ที่เรียกว่า Blockchain Trilemma หมายความว่า Avalanche สามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมาก (Scalability) ในขณะที่ยังสามารถคงความปลอดภัย และการกระจายอำนาจไปพร้อม ๆ กันด้วยองค์ประกอบสำคัญอย่าง Subnets ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการรองรับจำนวนของธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นได้ด้วยจำนวน Validator กล่าวคือยิ่งมี Validator มากขึ้น จำนวน Subnets ก็จะเพิ่มมากขึ้นและสามารถทำงานต่อเนื่องกันเมื่อจำนวนธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น









อ้างอิงจากเว็บไซต์ Coinmarketcap เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2021 AVAX คือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงสุดอันดับที่ 10 โดยมีมูลค่าตลาดรวมกันประมาณ 27.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.09 แสนล้านบาท โดยจำนวนเหรียญ AVAX ทั้งหมดมีอยู่ที่ 395,327,536 AVAX และมีเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดประมาณ 243,188,662 เหรียญ  มากกว่านั้น AVAX เคยทำราคาสูงสุดที่ 4,751 บาท และ ณ เวลาที่เขียนนี้ ราคากำลังเคลื่อนไหวอยู่แถว 3,745.11 บาท





การระดมทุนของ Avalanche เกิดขึ้นเมื่อไหร่?



ทาง Avalanche มีการระดมทุน (Initial Coin Offering : ICO) ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 2020 ด้วยเป้าหมายประมาณ 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มต้นราคาขายที่เหรียญละ 0.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 16 บาท จำนวนทั้งหมดประมาณ 19 ล้าน AVAX ซึ่งถือว่าอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก หากเทียบกับราคา ณ ปัจจุบัน





สรุป



Avalanche คือหนึ่งในเครือข่ายสาย Smart Contract ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะในระหว่างที่เขียนอยู่นั้น AVAX ถือเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดรวมเป็นอันดับ 10 ของคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลก 



อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจการลงทุนอยู่เสมอ หวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ดี ๆ จากพวกเรา Bitkub Academy เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุน แล้วพบกันใหม่ในคอนเทนต์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊คหรือเว็บไซต์ Bitkub Academy 





อ้างอิง:



Avalanche, Coinmarketcap, Shrimpy, Binance Academy, Ico drop, Icomarks

Crypto

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด