การประชุม Fed คืออะไร ? ทำไมส่งผลต่อนักลงทุน

การประชุม Fed คืออะไร ? ทำไมส่งผลต่อนักลงทุน

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินว่าการประชุม Fed จะส่งผลต่อราคาคริปโทฯ ได้ แต่อาจจะยังสงสัยว่า แล้ว Fed คืออะไร ทำไมถึงส่งผลต่อนักลงทุน วันนี้ Bitkub Academy จะพาทุกคนไปรู้จักกับ Federal Reserve หรือ Fed และอธิบายผลกระทบของนโนบายการเงินต่อตลาดคริปโทฯ 

Fed หรือ Federal Reserve คือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา



ธนาคารกลางของสหรัฐฯ มีหน้าที่เดียวกับธนาคารกลางของประเทศไทย ซึ่งก็คือการดูและระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า "อัตราดอกเบี้ย"





แล้ว Fed ใช้อัตราดอกเบี้ยในการดูแลระบบการเงินได้อย่างไร



ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอัตราดอกเบี้ยในที่นี้คือ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Funds Rate) ที่ FOMC กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อีกทีหนึ่ง แล้วธนาคารพาณิชย์ก็จะนำแนวทางดังกล่าวไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการฝากเงินหรือกู้เงินของผู้บริโภค



ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ธนาคารกลางได้ลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยในการฝากเงินและกู้เงินลงเช่นเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยในการฝากเงินที่ต่ำลงทำให้คนนำเงินออกมาใช้มากขึ้น เพราะต่อให้ฝากเงินไว้ก็ไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีเท่าไหร่ และอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินที่ต่ำยังกระตุ้นให้เอกชนกู้เงินไปลงทุนมากขึ้นด้วย ทำให้มีการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจและ GDP ขยายตัว 



แต่เมื่อ GDP ขยายตัวไปถึงจุดหนึ่งก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปจะทำให้ค่าครองชีพสูงและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารกลางจึงต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้คนหันมาฝากเงินมากขึ้นและกู้เงินมาลงทุนน้อยลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้เศรษฐกิจโดยรวมได้





อัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปจะส่งผลอย่างไรต่อนักลงทุน



สินทรัพย์แต่ละประเภทจะตอบสนองต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไป เพราะนักลงทุนจะย้ายเงินเข้าหรือออกจากตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด เช่น ในกรณีที่มีการขึ้นดอกเบี้ย อาจส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ลดลง เพราะตราสารหนี้ที่ออกมาใหม่จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้เงินวิ่งออกจากตราสารหนี้ที่มีอยู่ในตลาด

 

ส่วนคริปโทฯ อาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับอัตราดอกเบี้ยเหมือนตราสารหนี้ เพราะว่าในทางหนึ่ง นักลงทุนก็มองว่า Bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้เหมือนทองคำ แต่ว่าก็มีนักลงทุนบางส่วนที่มองว่าคริปโทฯ จัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน 



สิ่งที่นักลงทุนทำได้ก็คือ จับตาดูว่าก่อนการประชุมแต่ละรอบตลาดคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยไว้อย่างไร และผลที่ออกมาหลังการประชุมสอดคล้องกับที่ตลาดคาดไว้หรือไม่ เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์และวางกลยุทธ์ของตัวเองต่อไปได้



สำหรับปีนี้ ธนาคารกลางจะมีการประชุมอีก 6 ครั้ง 

  • ครั้งที่ 1 - พฤษภาคม (วันที่ 3 - 4)

  • ครั้งที่ 2 - มิถุนายน (วันที่ 14 - 15)

  • ครั้งที่ 3 - กรกฎาคม (วันที่ 26 - 27)

  • ครั้งที่ 4 - กันยายน (วันที่ 20 - 21)

  • ครั้งที่ 5 - พฤศจิกายน (วันที่ 1 - 2)

  • ครั้งที่ 6 - ธันวาคม (วันที่ 13 - 14)



เราต้องมารอดูกันต่อไปว่าการประชุมแต่ละครั้งจะส่งผลอย่างไร อย่าลืมกาวันที่เหล่านี้ไว้ในปฏิทิน แล้วมาลุ้นไปพร้อมกันนะคะ





อ้างอิง:



Yahoo Finance, efinanceThai, Money Buffalo, Investopedia 

Economy

Latest Articles

Digital Tokens

Market Updates