Loopring (LRC) คืออะไร?
Loopring คือโปรเจกต์ Layer 2 บน Ethereum ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้าง Decentralized exchanges (DEX) แบบไม่จำเป็นต้องมีผู้เก็บรักษาสินทรัพย์ได้ ทำให้การซื้อขายสินทรัพย์และชำระเงินบน Ethereum รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลงโดยที่ยังคงมีความปลอดภัย
ผู้ก่อตั้ง Loopring คือใคร?
Loopring ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดย Daniel Wang ซึ่งเคยเป็น Software Engineer ของ Google และเป็นนักธุรกิจที่ร่วมก่อตั้งบริษัทอื่น ๆ อย่าง Yunrang (Beijing) Information Technology Ltd. และ Coinport Technology Ltd. อีกด้วย
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Steve Guo ซึ่งเป็น Chief Technology Officer (CTO) ของ Loopring ได้เข้ามาเป็น Chief Executive Officer (CEO) ของ Loopring แทน Daniel Wang ส่วน Daniel Wang จะอยู่ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่อไปโดยจะเน้นการพัฒนากลยุทธ์ Layer 2 ของบริษัทในเฟสต่อไปแทน
จุดเด่นของ Loopring มีอะไรบ้าง
Loopring เป็นโปรโตคอลสำหรับการสร้าง Decentralized Exchanges (DEX) ที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้เก็บรักษาสินทรัพย์ ซึ่งหมายความว่าแพลตฟอร์มสามารถทำการซื้อขายได้ด้วยการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่จำเป็นต้องเก็บสินทรัพย์ไว้ในแพลตฟอร์ม แตกต่างจาก Centralized Exchanges (CEX) ที่กำหนดให้ผู้ขายและผู้ขายต้องฝากสินทรัพย์ไว้ในแพลตฟอร์มก่อนจึงจะสามารถทำการซื้อขายได้
อย่างไรก็ตาม Loopring ยังแตกต่างจาก DEX ทั่วไปที่ใช้เทคโนโลยี Automated Market Maker (AMM) ซึ่งมักจะประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและความเร็วในการทำธุรกรรม เนื่องจาก Loopring ใช้ระบบการซื้อขายแบบ Orderbook ซึ่งเป็นการจับคู่คำสั่งซื้อและคำสั่งขายเหมือน CEX ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การเทรดที่รวดเร็วและมีสภาพคล่องที่สูงขึ้น รวมถึงสามารถดูความเคลื่อนไหวของราคาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อขายได้อีกด้วย
เรียกได้ว่า Loopring เป็นการผสมผสานระหว่าง DEX และ CEX โดยรักษาจุดแข็งของ DEX ด้านการกระจายศูนย์ (Decentralized) ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาด้านประสบการณ์ในการใช้งานและความรวดเร็วของ DEX ทั่วไป ต่อไปเราจะมาดูว่า Loopring ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในการสร้าง DEX ที่แตกต่างนี้
เทคโนโลยีที่น่าสนใจของ Loopring
Loopring เป็นโปรโตคอล Layer 2 ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายขึ้นมาบนเครือข่ายหลักของ Ethereum ซึ่งแตกต่างจาก DEX อื่น ๆ อย่าง Uniswap และ SushiSwap ที่อยู่บน Layer 1 ถึงแม้ว่าโครงสร้างทั้ง 2 แบบจะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่จุดเด่นของ Layer 2 คือการทำธุรกรรมที่รวดเร็วมากขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการที่ต่ำลงโดยยังคงความปลอดภัยไว้ได้
เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมบน Ethereum จะขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลที่อยู่ในธุรกรรมดังกล่าว การทำธุรกรรมบน Layer 1 จึงมีค่าใช้จ่ายสูง Layer 2 เข้ามาแก้ปัญหานี้ด้วยการทำธุรกรรมบนเครือข่ายอื่นนอกบล็อกเชน แล้วจึงค่อยส่งข้อมูลกลับไปยังเครือข่ายหลัก ทำให้ค่าธรรมเนียมของ Loopring อยู่ที่น้อยกว่า 0.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 35 สตางค์)
นอกจากนี้ การทำธุรกรรมบนเครือข่ายของ Loopring เองยังช่วยเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมได้อีกด้วย โดยข้อมูลจาก Loopring ระบุว่าโปรโตคอลสามารถประมวลผลได้มากกว่า Ethereum อยู่ประมาณ 1,000 เท่า โดยสามารถทำธุรกรรมได้สูงสุด 2,025 รายการต่อ 1 วินาที
ยิ่งไปกว่านั้น Loopring ยังใช้เทคโนโยีเข้ารหัสที่เรียกว่า zkRollup เพื่อรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอีกด้วย โดย “zk” ย่อมาจาก “Zero Knowledge” ซึ่งเป็นวิธีการเข้ารหัสที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลของอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเกินกว่าที่จำเป็น และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับโปรโตคอลโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางที่เป็นบุคคลที่สาม
เหรียญ LRC
เหรียญ LRC เป็นสกุลเงินหลักของ Loopring Exchange โดยผู้ใช้สามารถใช้เหรียญ LRC ในการจ่ายค่าธรรมเนียมเมื่อซื้อขายสินทรัพย์ในแพลตฟอร์มได้ โดย 80% ของค่าธรรมเนียมจะถูกส่งต่อไปยังผู้ที่เพิ่มสภาพคล่องให้แพลตฟอร์ม (Liquidity Provider) และส่วนที่เหลือจะแบ่งให้กับผู้ค้ำประกันและ Decentralized Autonomous Organization (DAO) ของ Loopring
นอกจากนี้ ผู้ถือเหรียญ LRC ยังสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มได้โดยการใช้เหรียญ LRC เป็น Governance Token ในการโหวตตามวาระต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ถือเหรียญยังจะได้รับสิทธิ์เข้าถึงโปรแกรม VIP ของ Loopring และการรับเหรียญใหม่จากการเสริมสภาพคล่อง (Liquidity Mining) อีกด้วย

อ้างอิงจากเว็บไซต์ CoinMarketCap เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เหรียญ LRC มีมูลค่าตลาดรวมสูงสุดอันดับที่ 72 โดยมีมูลค่าตลาดรวมกันประมาณ 509 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนเหรียญ LRC ทั้งหมดมีอยู่ที่ 1,373,873,437 เหรียญ และมีเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดที่ 1.33 พันล้านเหรียญ LRC เคยทำราคาสูงสุดที่ 135.14 บาท และ ณ เวลาที่เขียนนี้ ราคากำลังเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 13.51 บาท
สรุป
Loopring เป็นอีกหนึ่งโปรโตคอลสำหรับ DEX ที่มีความน่าสนใจและแตกต่าง DEX อื่น ๆ โดยผสมผสานจุดแข็งของ CEX และ DEX เข้าไว้ด้วยกันรวมถึงใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วให้กับแพลตฟอร์มอีกด้วย หากใครที่สนใจใน DeFi โปรโตคอล Loopring ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุนเสมอ
อ้างอิง
Loopring, CoinDesk, Decrypt, CoinMarketCap, Crunchbase, Medium
Crypto
Latest Articles
Digital Tokens
Market Updates