เจาะลึกข้อดีและข้อจำกัดบล็อกเชน

เจาะลึกข้อดีและข้อจำกัดบล็อกเชน

ก่อนอื่น บล็อกเชนคืออะไร?



บล็อกเชน คือเทคโนโลยีสมุดบัญชีสาธารณะที่มีความคล่องตัวในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยเป็นฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่เชื่อมต่อกันรูปแบบผู้คนสู่ผู้คน (Peer-to-Peer) ทุกคนภายในเครือข่ายเดียวกัน สามารถที่จะตรวจสอบชุดสำเนาที่มีในมือได้ ทำให้การรักษาชุดข้อมูลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง และโปร่งใส ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะพาไปรู้จักกับข้อดี และข้อจำกัดของบล็อกเชนให้มากยิ่งขึ้น 





ข้อดีของเทคโนโลยีบล็อกเชน 



โปร่งใส ไร้ตัวกลาง 

ข้อดีที่เป็นที่รู้จักเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนคือ การทำงานที่มีความโปร่งใส โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางอีกต่อไป แต่มีลักษณะในการตรวจสอบชุดข้อมูลผ่านบุคคลแทน ทำให้มีความสามารถในการดูแล และตรวจสอบข้อมูลที่โปร่งใสและมีความน่าเชื่อถือ



อีกทั้งด้านความปลอดภัยที่เหนือชั้น เพราะการใช้งานบล็อกเชนไม่ได้มีลักษณะรวบรวมข้อมูลไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งมักจะเกิดปัญหาในการถูกเจาะเข้าระบบ เป็นสาเหตุในการเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยที่สูง แต่ด้วยการทำงานของบล็อกเชน ที่ทุกครั้งที่มีการไหลเข้ามาของข้อมูล จะมีการนำบทคัดลอกข้อมูลไปยังโหนดในระบบ 



ในการเจาะเข้าระบบเพื่อแก้ไขข้อมูล หรือการปลอมแปลงข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากทุกบล็อกในบล็อกเชนมีการเชื่อมด้วยข้อมูลชุดที่ร้อยเรียงกัน หมายความว่าหากมีการแก้หนึ่งบล็อกก็ต้องแก้ทั้งเชนแข่งกับผู้ใช้มากมายที่กระจายตัวทั่วโลกนั่นเอง



ตรวจสอบได้ 



ธุรกรรมทั้งหมดของบล็อกเชนจะถูกเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ ไม่สามารถที่จะแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลในภายหลังได้ พร้อมถูกดูแล และตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้ใช้ในระบบอย่างไม่เปิดผยตัวตน ทำให้การตรวจสอบข้อมูลของกันและกันในระบบการทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และน่าเชื่อถือ



ความเร็วในการทำงาน 



พื้นฐานในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนมักจะใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากมีตัวแปรในการจัดการตรวจสอบ และดำเนินการ แต่ทุกขั้นตอนที่ไม่จำเป็นได้ถูกตัดออกไปด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้การทำธุรกรรมสามารถที่จะใช้ระยะเวลาได้สั้นลงหลายเท่าตัว โดยหนึ่งบล็อกสามารถถูกตรวจสอบได้ภายในไม่กี่นาที หรือวินาทีเลนทีเดียว





ข้อจำกัดของเทคโนโลยีบล็อกเชน 



แก้ไขข้อมูลไม่ได้ 



เมื่อมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบบล็อกเชน ชุดข้อมูลดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ด้วยลักษณะการทำงานเช่นนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นทั้งข้อดี และข้อเสียในเวลาเดียวกัน การระบุข้อมูลเข้าสู่ระบบบล็อกเชนจึงควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องอย่างระมัดระวัง 



ตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดในหัวข้อนี้คือ เมื่อพฤศจิกายน ปี ค.ศ.2020 คาดว่ามีผู้โอนทำการโอนบิตคอยน์ โดยระบุสลับตำแหน่งระหว่าง จำนวนที่ต้องการโอน และค่าธรรมเนียม ทำให้ผู้รับได้ บิตคอยน์ 0.01088549 BTC หรือมูลค่า 5,893 บาท และมีค่าธรรมเนียม 2.66 BTC หรือ 1,428,377 บาท ด้วยเหตุผลนี้ นักลงทุนควรพึงระวังและตรวจสอบข้อมูลที่ถูกป้อนให้ดี ก่อนยืนยันเสมอ



ใช้พลังงานจำนวนมาก



เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการไหลเข้าของชุดข้อมูล บล็อกเชนที่มีลักษณะการทำงานแบบการเก็บรักษาบัญชีแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ตรวจสอบต้องใช้ระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา (Computational Power) เพื่อดูความถูกต้อง แก้ไขสมการ และนำข้อมูลไปจัดเก็บถาวร 

ทฤษฎีการถูกเจาะระบบของบล็อกเชน



การเจาะระบบบล็อกเชนในทางทฤษฎีมีความเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะจำเป็นต้องใช้พลังงานมากกว่า 51% ของทั้งระบบ เพื่อทำให้ผู้ตรวจสอบที่อยู่ในระบบเห็นพ้องกับชุดข้อมูลที่มีการปลอมเเปลงดังกล่าว สำหรับบล็อกเชนที่มีผู้ใช้งานน้อย อาจจะเป็นเป้าของการโจมตีได้ง่าย 



แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีของบิตคอยน์ มีความเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกเจาะเข้าระบบ เนื่องจากมีการกระจายเครือข่ายในการตรวจสอบระดับสูง พร้อมมีจำนวนผู้ตรวจสอบเยอะมหาศาล ทำให้ในเรื่องของความโปร่งใส และระดับความปลอดภัยอยู่ในระดับที่สูงมาก



ความยุ่งยากของการขยายระบบ



รูปแบบการจัดการของบล็อกเชนมีระบบแบบกระจายศูนย์ ทำให้มีปัญหา และความยุ่งยากมากกว่าในการขยายระบบแบบระบบรวมศูนย์ เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่จะทำให้ผู้ใช้บริการต้องรอผลการยืนยันธุรกรรมเป็นระยะเวลานาน 

แต่เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการให้บริการ ลดปัญหาการติดขัดในการใช้งานแบบคอขวด และให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการในอนาคต ทำให้มีการพัฒนา และความสามารถในการให้บริการส่วนนี้อยู่เสมอ 



Private key

สำหรับมือใหม่หลายคนอาจจะเป็นเรื่องยากในการดูแล Private key ได้อย่างเหมาะสม และปลอดภัย เนื่องจากจำเป็นต้องมีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง จึงเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดที่ยังมีความน่าเป็นห่วง 



หากมีการดูแลและจัดเก็บ Private key ที่ไม่รัดกุมมากนัก อาจทำให้เจ้าของบัญชีสูญเสียบัญชีของตัวเองถาวร เพราะฉะนั้นการดูแล และรักษา Private key เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ 





บทส่งท้าย 



หากผู้อ่านเห็นภาพรวมของเทคโนโลยีของบล็อกเชนแล้ว จะสังเกตุได้ว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล และตัดตัวกลางในการตรวจสอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการใช้งานชุดข้อมูลได้ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน 

แต่ในเวลาเดียวกันยังมีข้อจำกัดด้านการใช้งานที่ยังน่าเป็นห่วง เพื่อให้สามารถตอบรับกับความต้องการในอนาคต และลดปัญหาที่จะเกิด หนทางเดียวคือการพัฒนาระบบให้ครอบคลุม  และพร้อมใช้งานมากที่สุด 





อ้างอิง:



IEEE blockchain research, Redbytes, 101 blockchain advantages and disadvantages, Softengi, ข่าวการโอนเงินพลาด

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด