ระบบเศรษฐกิจทำงานอย่างไร?

ระบบเศรษฐกิจทำงานอย่างไร?

ระบบเศรษฐกิจคืออะไร?

ระบบเศรษฐกิจ คือภาพรวมของการซื้อขายสินค้า และบริการเป็นจำนวนมากจากทุกตลาด โดยข้อมูลการซื้อขายทั้งหมดถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อวัดว่า ระบบเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำให้โลกขับเคลื่อนไปข้างหน้า

สงสัยไหมว่า ระบบเศรษฐกิจนั้นเกี่ยวกับเราอย่างไร และจำเป็นต้องเรียนรู้ไว้หรือไม่? วันนี้เราจะมาอธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจว่า ระบบเศรษฐกิจคือสิ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม!





ระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร?



เศรษฐกิจเกิดขึ้นเพราะมีการแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นระหว่างความต้องการของคน โดยการนำสิ่งของที่เราไม่มี ไม่ว่าจะเป็นเพราะข้อจำกัดด้านใดก็ตาม นำมาแลกเปลี่ยนกันและกัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเงินในยุคสมัยแรกที่ใช้แทนการแลกเปลี่ยนอีกด้วย





สิ่งที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ



เงินคือตัวกลางสำคัญที่ถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ เริ่มจากประชากรทั่วไปที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการผลิต ไปจนถึงสิ่งที่ตอบสนองความต้องการส่วนตัว 



องค์กรก็จำเป็นต้องใช้เงินเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการทั้งด้านแรงงานและทรัพยากร ไปจนถึงการพัฒนาองค์กรให้เติบโตขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในขณะนั้น



การแลกเปลี่ยน หรือที่เรียกว่าธุรกรรม จึงเป็นสิ่งขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ หากไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน เงินก็ไม่สามารถไหลเวียนได้





การวัดสถานะของเศรษฐกิจ



ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) คือ รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย สินค้า บริการ และสินทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ แถมยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สถานะเศรษฐกิจของประเทศว่ากำลังมุ่งหน้าไปทิศทางใด



GDP คือเครื่องมือวัดภาวะเศรษฐกิจในระดับประเทศที่ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างมาก ด้วยการเปรียบเทียบกับสถิติของปีก่อน หากตัวเลขสูงขึ้นก็สามารถประเมินได้ว่ามีปริมาณการผลิตที่สูงขึ้น รายได้สูงขึ้น และการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากตัวเลขลดลงสามารถประเมินได้ว่าปริมาณการผลิต รายได้ และการใช้จ่ายก็ลดลงเช่นกัน



นอกจากนี้ ยังมีการนำผลคำนวณของ GDP มาใช้เพื่อคาดการณ์สถานะของเศรษฐกิจโดยนักลงทุน ไปจนถึงองค์กรใหญ่ ๆ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุนรูปแบบต่างๆ อนึ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต การลงทุนมักมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่าช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว





ความสำคัญของเครดิต



เครดิตเปรียบเหมือนความน่าเชื่อถือของบุคคลว่ามีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้สินที่ได้ทำการกู้มามากน้อยแค่ไหน โดยสามารถวัดได้จากฐานเงินเดือน หรือสินทรัพย์ที่มีการถือครอง เช่น บ้าน รถ หรือ ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งสามารถขยายไปยังระดับองค์กรหรือประเทศได้เช่นกัน



เครดิตสามารถส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจได้อย่างมาก แม้ปริมาณเงินสดที่มีอยู่ในเศรษฐกิจอาจน้อยกว่า แต่ถ้าประเทศมีเครดิตหรือมีความน่าเชื่อถือ ก็จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การใช้จ่าย หรือการกู้ยืมในประเทศนั้น ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในประเทศเช่นกัน 



หลาย ๆ คน หรือบริษัทที่มีศักยภาพ แต่ปราศจากเงินทุนสนับสนุนก็ไม่อาจเติบโตขึ้นได้ เครดิตจึงมีความสำคัญเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย





เครดิต หนี้สิน และอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ



การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความต้องการของผู้ถือเงิน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีเงินในการใช้จ่าย ลงทุน หรือพัฒนาองค์กรได้อย่างที่ต้องการ ปัจจัยสามอย่างนี้จึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ



เครดิต คือหนึ่งในรูปแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นโดยปกติ แต่ผู้ขายจะได้รับเงินภายหลัง อาจเป็นการสำรองจ่ายจากธนาคารที่ให้กู้ยืม หรือการจ่ายในภายหลังตามเงื่อนไขที่ตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย



แน่นอนว่าเครดิตเปรียบเสมือนหนี้สินที่ต้องชำระภายหลังพร้อมกับอัตราดอกเบี้ย เช่น ถ้าต้องการกู้ยืมเงินเป็นจำนวน 2.4 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเดือนละครั้งเป็นเวลาทั้งหมด 2 ปี หากดอกเบี้ยถูกกำหนดไว้ที่ 5% ผู้ขอกู้ต้องทำการจ่ายคืนเดือนละ 105,000 บาท หากธนาคารเป็นผู้ปล่อยกู้ ดอกเบี้ยส่วนหนึ่งจะถูกมอบเป็นผลตอบแทนให้ผู้ที่ทำการฝากเงินไว้กับธนาคาร 



อัตราดอกเบี้ยถูกควบคุมโดยธนาคารกลาง โดยใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อควบคุมไม่ให้มีปริมาณเงินมากเกินไปในเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่าเงินเฟ้อ หรือใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพื่อเพิ่มปริมาณเงินให้มากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และป้องกันภาวะเงินฝืด





อัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินฝืด และบทบาทของธนาคารกลาง



อัตราเงินเฟ้อคือ ภาวะที่มีการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ไม่ใช่การปรับตัวขึ้นของราคาในระยะสั้นหรือเฉพาะสิ่งของบางอย่าง หากสถาบันทางการเงินสามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ ก็จะสามารถช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตโดยไม่มีผลข้างเคียง



อัตราเงินฝืดคือ ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ประชากรไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ความต้องการของสินค้าและบริการต่าง ๆ ลดลง และอาจทำให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก



การคาดการณ์ทิศทางของระบบเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มว่าจะเกิดเงินเฟ้อหรือเงินฝืด สามารถทำได้ด้วยการวัดดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)

สถาบันการเงิน หรือธนาคาร มีหน้าที่ในการควบคุมระบบเศรษฐกิจให้เดินหน้าอย่างปลอดภัย โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงิน เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด



เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกปรับสูงขึ้น จะส่งผลให้มีการใช้จ่ายลดลง ประชากรจะหันไปชำระหนี้และนำเงินไปฝากเพื่อรับผลตอบแทนจากการฝากที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง แม้อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปบ้าง



การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการกระตุ้นภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยดึงดูดให้ประชากรหรือองค์กรทำการกู้ยืม ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในตลาดก็สูงขึ้น และโอกาสการเกิดภาวะเงินฝืดลดน้อยลง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อแทน ธนาคารกลางจึงมีบทบาทเป็นผู้ดูแลสมดุลนี้นั่นเอง





ภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ



เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นก็ต้องมีการชะลอตัวเพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อให้คงที่เป็นวัฏจักร แม้ในระยะสั้นจะสามารถส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แล้วในระยะยาวล่ะ?



การเติบโตของเศรษฐกิจที่ดำเนินเร็วเกินไปในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นสูงจากเงินเดือนและเครดิต ความต้องการจึงเพิ่มขึ้น และราคาของราคาสินค้าจึงเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าที่ควร



เมื่ออยู่ในภาวะดังกล่าว ประชากรจำเป็นต้องลดหย่อนค่าใช้จ่ายลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว การลดอัตราดอกเบี้ยไม่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก จึงเป็นที่มาของอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate) ซึ่งไม่สามารถช่วยกระตุ้นได้เสมอไป



สุดท้าย ทุกคนก็ต้องรัดกุมเงินในกระเป๋า ส่งผลย้อนกลับให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ มีราคาที่ตกลงอย่างรุนแรง เพราะมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการที่แท้จริง 





ปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลกับเศรษฐกิจอย่างไร?



เครดิต คือส่วนประกอบสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสามารถเติบโตขึ้นหรือถดถอยได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณเครดิตที่ถูกแจกจ่ายให้กับคนที่มีความต้องการกู้

อัตราดอกเบี้ยเปรียบเสมือนสิ่งที่มาควบคุมเครดิต เพราะทุกการกู้ยืมย่อมต้องเสียดอกเบี้ย ดอกเบี้ยอาจสูงขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจว่าเหมาะที่จะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันอัตราเงินเฟ้อ และเงินฝืดไปพร้อม ๆ กัน



หากประเทศที่ได้รับการบริหารด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปล่อยกู้ การกู้ยืม ไปจนถึง การควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลดีให้กับประเทศเพื่อให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น



แต่ถ้าหากปราศจากการควบคุมอัตราเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพโดยธนาคารกลาง แม้รายได้ภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นสูงก็อาจส่งผลเสียแทนผลดี เพราะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงที่ราคาสินค้าและบริการสูงเกินกว่าที่ควร



ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงที่นอกจากจะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้มูลค่าของเงินในประเทศด้อยมูลค่าและหมดความน่าเชื่อถือ อาจก่อให้เกิดการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ





สรุป



การทำงานของระบบเศรษฐกิจนั้น มีขาขึ้นและขาลงซึ่งเกิดจากการควบคุมโดยสถาบันทางการเงิน หรือธนาคารกลาง แม้จะมีทั้งผลดีหรือผลเสียแต่ก็ต้องยอมรับว่า การบริหารที่ดีช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตขึ้น แต่ก็ควรระมัดระวังภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

การเข้าใจถึงวัฏจักรของระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างดี สามารถช่วยให้เราบริหารความเสี่ยงได้ดี และสามารถช่วยตัดสินใจในใช้จ่าย กู้ยืม หรือลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น





อ้างอิง:

Binance Academy, Investopedia, Youtube, Wikipedia
Economy

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด