Proof of Work v.s. Proof of Stake

Proof of Work v.s. Proof of Stake

Proof of Work vs. Proof of Stake



รู้หรือไม่? ทั้ง Proof of Work กับ Proof of Stake ต่างก็สามารถสร้างฉันทามติ หรือ “Consensus” บนเครือข่ายบล็อกเชนได้เหมือนกัน แล้วทั้งสองแบบต่างกันมากน้อยขนาดไหน?



วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับระบบ Proof of Work กับ Proof of Stake และทำความเข้าใจว่าทั้ง 2 ระบบเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร! 





Proof of Work และ Proof of Stake คือชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ (Algorithm) ที่ใช้สร้างฉันทามติ (Consensus) ในเครือข่ายแบบอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ในเครือข่ายไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือไว้ใจกัน หรือเรียกว่า Consensus Algorithm



Consensus Algorithm ถือกำเนิดขึ้นเพื่อส่งเสริมระบบกระจายอำนาจแบบไม่มีศูนย์กลาง (Decentralized) โดยหันมาพึ่งพาบล็อกเชน ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ผู้ใช้ทุกคนมีอำนาจเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน Consensus Algorithm เองก็มีหลายประเภทและแตกต่างกันออกไปในแต่ละเครือข่าย โดยระบบที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดี ก็คือ PoW กับ  PoS นั่นเอง



Proof of Work คืออะไร?



Proof of Work (PoW) มีกลไกหลักเป็นการแก้โจทย์ที่ระบบกำหนดมาเพื่อหาค่าสมการที่ถูกต้อง ผู้ใช้ทุกคนที่อยู่บนบล็อกเชนประเภทนี้จะมีสิทธิ์ในการเข้าร่วม โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในเครือข่ายนี้มักถูกเรียกว่า “นักขุด”



PoW ถูกคิดค้นเพื่อแก้ไขปัญหา Double-spending หรือการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลหนึ่งหน่วยมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยผู้สร้างได้เพิ่มกลไกลายเซ็นต์ดิจิทัล (Digital signature) เพื่อกำกับเวลาที่ใช้เหรียญนั้น ๆ ไม่ให้สามารถถูกนำไปใช้ซ้ำได้



นักขุดทุกคนจะได้รับชุดสมการที่ต้องแก้เพื่อหากลุ่มตัวเลขตามที่ระบบตั้งไว้ โดยระบบจะตั้งค่าที่เรียกว่า “Nonce” ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความยากในการสุ่มซึ่งจะแปรผันไปกับจำนวนนักขุดนั่นเอง



หากมีนักขุดจำนวนมาก ความยากในการขุดก็จะสูงขึ้น หากมีนักขุดน้อย ความยากก็จะต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ตั้งไว้ เมื่อนักขุดสุ่มหาสมการและสามารถแก้ได้เป็นคนแรก ระบบจะประกาศให้ทราบโดยทั่วถึง และนักขุดคนนั้นจะได้รับเหรียญเป็นรางวัลค่าตอบแทน



นักขุดที่มีเครื่องมือคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูง มักจะมีโอกาสสุ่มเจอได้มากกว่า  เนื่องจากจะมีความเร็วในการสุ่มสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะแก้สมการได้แน่นอน ดังนั้นโชคก็นับเป็นอีกปัจจัยที่มีผลในระบบ PoW



แต่อย่างไรก็ตาม ระบบ PoW เป็นระบบที่กินพลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล เพราะต้องใช้พลังประมวลผลของฮาร์ดแวร์ในการหาตัวเลขนับล้าน ๆ ตัวเพื่อมาแก้โจทย์



Proof of Stake คืออะไร?



ระบบ Proof of Stake (PoS) คืออีกหนึ่งอัลกอริธึมที่นิยมใช้สร้าง Consensus บนบล็อกเชน แต่แทนที่ผู้ใช้จะมาแข่งกันแก้โจทย์สมการ PoS จะใช้วิธีวางสินทรัพย์ค้ำประกันหรือ  Stake เหรียญไว้ในระบบ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม



PoS ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของ PoW ซึ่งคือการใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลไปกับการขุด



ด้วยกลไกสุ่มเลือกผู้ตรวจสอบ (Pseudo-random Election) ระบบ PoS จะสุ่มมอบสิทธิ์ในการยืนยันธุรกรรมให้ผู้ใช้เพียงคนเดียวต่อหนึ่งบล็อก 

ผู้ตรวจสอบ (Validator) จะมีหน้าที่สร้างบล็อกใหม่บนบล็อกเชนคล้ายกับการขุด (Mining) ของ Proof of Work และรับผลตอบแทนเป็นเหรียญหรือค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมบนบล็อกนั้น



อย่างไรก็ตาม ถ้าระบบตรวจพบการปลอมแปลงข้อมูลธุรกรรม ผู้ตรวจสอบรายนั้นจะสูญเสียเงินที่ตนได้ค้ำประกันไว้เป็นบทลงโทษ และต้องผ่านกระบวนการสุ่มเลือกเพื่อตรวจสอบใหม่อีกครั้ง



ในการเลือกผู้ตรวจสอบสำหรับการสร้างบล็อก นอกจากโชคแล้ว ปริมาณเหรียญที่ถูกวางค้ำประกันไว้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ระบบจะพิจารณา บางเครือข่ายยังเลือกผู้ตรวจสอบโดยดูจากประวัติการทำงานที่ดีอีกด้วย



อย่างไรก็ตาม PoS อาจส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจ หากระบบเลือกผู้ตรวจสอบจากจำนวนสินทรัพย์ที่วางค้ำประกันไว้เพียงอย่างเดียว



สรุป



หากเปรียบเทียบกัน PoW และ PoS แตกต่างกันที่กระบวนการตรวจสอบบล็อก และการเลือกผู้ตรวจสอบหรือนักขุด



ระบบ PoW เลือกผู้ตรวจสอบจากผู้ใช้ที่แก้สมการทางคณิตศาสตร์เร็วที่สุดในระบบ ส่วน PoS จะสุ่มเลือกผู้ตรวจสอบจากเหรียญที่วางค้ำประกันไว้



ทั้งนี้ บล็อกเชนยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นว่าในอนาคต บล็อกเชนจะพัฒนาไปในทิศทางใด ระหว่าง PoW หรือ PoS ระบบไหนที่จะได้รับการยอมรับมากกว่ากัน? หรือจะมีระบบใหม่มาแทนที่ไหม? ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป



อ้างอิง



Medium, Siamblockchain, Binance, Ledger

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด