Supply หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ราคาเหรียญ

Supply หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ราคาเหรียญ

Supply หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ราคาเหรียญ



ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มต้นทำความเข้าใจ แอดอยากจะขอปูพื้นฐานแบบรวบรัดให้ก่อน สำหรับใครที่พอมีพื้นฐานด้านการลงทุน หรือรูปแบบเศรษฐกิจ สามารถข้ามย่อหน้านี้ไปได้เลย!



คำว่า Supply เนี่ย หากแปลตามความหมายอาจแปลได้ว่าเป็นจำนวนทรัพยากร หรือสินค้า เป็นต้น ทว่า บนโลกของการลงทุน Supply อาจเปรียบเสมือนกับอุปทานได้เช่นเดียวกัน บนโลกที่มีเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น องค์ประกอบอย่าง อุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) คือตัวแปรสำคัญต่อราคาและมูลค่าของสิ่งต่าง ๆ บนโลก



แน่นอนว่า ในโลกของสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี ก็มีองค์ประกอบอย่าง Demand และ Supply เหมือนกับสินทรัพย์อย่าง หุ้น กองทุน ทองคำ ไปจนถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ Bitkub Academy จะพาทุกคนมาศึกษาให้เห็นภาพว่าทำไม Supply ถึงสำคัญต่อการวิเคราะห์ราคาเหรียญ





Supply คืออะไร?  



Supply คืออุปทานที่เกิดขึ้นบนโลกโดยจำนวนของอุปทานแสดงให้เห็นถึงปริมาณที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจด้านการเงินที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น กองทุน ทองคำ ไปจนถึง คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)





แล้ว Supply ของคริปโทฯละ? 



สำหรับ Supply ของ Cryptocurrency คืออุปทานที่ถูกกำหนดขึ้นโดยผู้สร้างสกุลเงินดิจิทัลนั้น ๆ เพื่อการใช้งานภายในเครือข่าย เบื้องต้นนักลงทุนสามารถวิเคราะห์ราคาของเหรียญ ว่ามีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงผ่านอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) หรือ เงินฝืด (Deflation) จากจำนวน Supply ของเครือข่าย แต่นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาถึงประโยชน์การใช้งาน เพื่อวิเคราะห์ความต้องการ (Demand) ของผู้ใช้อีกเช่นกัน



เครือข่ายบล็อกเชนต่าง ๆ สามารถกำหนดการใช้งานของสกุลเงินดิจิทัลได้ โดยวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ของการใช้งาน (Utility) อาจแตกต่างกันในแต่ละเครือข่าย อาทิ เครือข่ายที่มุ่งเน้นในการแลกเปลี่ยนมูลค่าทางการเงิน (Store of Value) เป็นหลักอย่าง Bitcoin, XRP, และ Stellar หรือเครือข่ายที่มุ่งเน้นในการสร้างสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) อย่าง Ethereum, Bitkub Chain, และ Polkadot ให้เกิดการใช้งานที่มากกว่าแค่เพียงการแลกเปลี่ยนมูลค่าทางการเงิน 



อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลสามารถช่วยให้นักลงทุนบริหารความเสี่ยงระหว่างการลงทุนได้ แต่ไม่ได้การันตีถึงผลลัพธ์ว่าจะเกิดขึ้นตามการวิเคราะห์เสมอไป สิ่งที่สำคัญคือการติดตามข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบคอบและสม่ำเสมอนะทุกคน!





Supply มีกี่ประเภท? 



Supply ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งในแต่ละประเภทจะมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย!





Circulating Supply



Circulating Supply คือ จำนวนเหรียญ หรือโทเคนที่หมุนเวียนภายในตลาด และสามารถเข้าถึงในการซื้อขายโดยสาธารณะ ซึ่งจำนวนเหรียญ ณ ช่วงเวลานั้น อาจหมุนเวียนอยู่ในระบบในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในกระเป๋า (Wallet) ของนักลงทุน ถูกล็อกอยู่ภายในเครือข่ายบล็อกเชน (Staking) หรือถูกล็อกอยู่ภายในแพลตฟอร์มการเงินกระจายอำนาจ (DeFi) ที่ทุกคนรู้จักกันกับคำว่า Yield Farming 



Circulating Supply สามารถเพิ่มขึ้นและลดลงได้ตามระยะเวลาด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น Bitcoin ที่จะมีอุปทานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการขุดของเหล่านักขุด (Miner) ที่ได้รับ Bitcoin เป็นรางวัลตอบแทนจากการทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมบนเครือข่าย และ Ethereum ที่อาจมีอุปทานที่ลดน้อยลงจากการเผาเหรียญ (Burn) ที่เป็นฟังก์ชันที่เพิ่มเข้ามาของ EIP-1559 เมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมานั่นเอง





Total Supply



Total Supply คือ จำนวนเหรียญที่มีภายในระบบ ณ ปัจจุบัน โดยจำนวนทั้งหมดได้มีการลบด้วยจำนวนที่มีการเผา หรือถูกทำลายผ่านกลไกการทำงานภายในระบบหากมีการกำหนดไว้  แตกต่างจาก Maximum Supply ที่หมายถึงจำนวนเหรียญทั้งหมดที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเครือข่ายนั้น ๆ 



สำหรับ Total Supply ประกอบด้วยเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด (Circulating Supply) ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ และเหรียญที่ล็อกเพื่อรอการปล่อยสู่ตลาดในช่วงเวลาต่าง ๆ หรือสงวนไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับผู้สร้างจะกำหนดและมีการระบุไว้ภายใน Tokenomics ที่อยู่ใน Whitepaper หรือแผนการพัฒนาในอนาคต





Maximum Supply



Maximum Supply หรือ อุปทานสูงสุด คือจำนวนเหรียญสูงสุดที่หนึ่งเครือข่ายสามารถผลิตขึ้นมาได้ผ่านการขุดในระบบฉันทามติ (Consensus Algorithm) Proof of Work หรือการตรวจสอบธุรกรรมในระบบฉันทามติแบบ Proof of Stake (PoS) ที่เรียกว่า Staking  หนึ่งสกุลเงินดิจิทัลสามารถกำหนดปริมาณเหรียญสูงสุดหรือไม่กำหนดก็ได้ ซึ่งหากผู้สร้างได้มีการกำหนดไว้ หากปริมาณเหรียญ (Circulating Supply) มีจำนวนเท่ากับ Maximum Supply จะไม่มีเหรียญใหม่เกิดขึ้นมาบนเครือข่ายอีก 



ยกตัวอย่างเช่น Bitcoin ที่มีการกำหนดอุปทานสูงสุดไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ หรือ Bitkub Coin ที่มีอุปทานสูงสุดเพียง 110 ล้านเหรียญในเครือข่าย ต่างจากทาง Ethereum ที่ไม่มีการกำหนดอุปทานสูงสุดแต่อย่างใด 





ทำไม Supply ถึงสำคัญต่อการวิเคราะห์ราคาเหรียญ?



หลังจากที่ทุกคนเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง Supply ทั้ง 3 ประเภทแล้ว แอดก็จะพาทุกคนมาเข้าเนื้อหาสำคัญว่า Supply สามารถช่วยประเมินความเป็นไปได้ของราคาเหรียญว่าจะเติบโตไปได้แค่ไหน โดยที่เราต้องใช้ 3 องค์ประกอบสำคัญในการประเมินดังนี้







(อ้างอิงข้อมูลจาก Coinmarketcap)

Market Capitalization หรือที่ทุกคนรู้จักกันว่า Market Cap คือการคำนวณระหว่าง ราคาเหรียญ x จำนวนเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ภายในเครือข่าย (Price x Circulating Supply) จะช่วยให้สิ่งทุกคนสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของราคาเหรียญว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตมากแค่ไหน?







(อ้างอิงข้อมูลจาก Coinmarketcap)

วันนี้แอดจะพามายกตัวอย่างเหรียญอันดับ 1 สำหรับการเขียน Smart Contract อย่าง Ethereum ที่มี Market Cap อยู่ที่ประมาณ 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565) มาจากการคูณระหว่าง ราคาต่อเหรียญและ Circulating Supply ณ ขณะนั้น







(อ้างอิงข้อมูลจาก Coinmarketcap)

หากลองนำเหรียญสาย Smart Contract เหมือนกันมาเปรียบเทียบความแตกต่างของ Market Cap ทั้งสองเหรียญ จะเห็นได้ว่า Fantom (FTM) ยังมีพื้นที่ของราคาที่สามารถเติบโตขึ้นได้อีก ทั้งนี้นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาพื้นฐานของเหรียญ เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเติบโต ซึ่งการยอมรับ การใช้งาน หรือเทคโนโลยีภายในเครือข่ายจำเป็นต้องมีการเติบโตเชิงบวก 



ยกตัวอย่าง ถ้านักลงทุนมีการวิเคราะห์พื้นฐาน (Fundamental Analysis) ของเหรียญแล้วเห็นว่ามีโอกาสที่เหรียญนี้จะเติบโต โดยคิดเป็นสัดส่วนว่า หาก Fantom สามารถเติบโตขึ้นไปได้เพียงแค่ 1/10 ของ Ethereum ในแง่ของ Market Cap หมายความว่าเหรียญนี้สามารถเติบโตขึ้นไปได้ประมาณ 7 เท่า  หรือประมาณ 400 - 500 บาทต่อเหรียญเลยทีเดียว!







(อ้างอิงข้อมูลจาก Coinmarketcap) 

กลับกัน แม้ Cardano (ADA) จะสามารถเติบโตโดยมี Market Cap เป็น 1/4 ของ Ethereum ราคาต่อเหรียญของ ADA ก็จะเติบโตขึ้นเพียง 2 - 3 เท่า ไม่สามารถมีราคา 400 - 500 บาทต่อเหรียญได้เหมือน Fantom  



มากกว่านั้น นอกจากการกำหนดอุปทานของเหรียญต่าง ๆ แล้ว กลไกการทำงานภายในก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เช่น Ethereum ที่แม้ว่าจะไม่มีการกำหนด Supply แต่ด้วยกลไกการเผาเหรียญในทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย ก็สามารถรักษาอัตราการเฟ้อของเงินได้ หรือถ้าอัตราการเผาเหรียญมีมากกว่า อัตราการเกิดของเหรียญต่อปี แม้แต่เครือข่ายที่ไม่มีการกำหนด Supply ทั้งหมดก็สามารถเกิดสภาวะเงินฝืดได้เช่นกัน 





สรุป



ตัวอย่างด้านบนทั้งหมด คือสาเหตุที่ Supply ก็ถือเป็นองค์ประกอบที่นักวิเคราะห์สามารถใช้ในการประเมินราคาเหรียญควบคู่ไปกับอัตราการเติบโตของคริปโทฯ สกุลต่าง ๆ ได้ ซึ่งการวิเคราะห์ที่ดี นักลงทุนควรวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐานควบคู่ไปกับการวิเคราะห์เชิงเทคนิค หรือที่ใคร ๆ ก็เรียกว่าการอ่านกราฟ เพื่อนำไปประกอบการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ



อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนควรศึกษาหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน เพื่อบริหารความเสี่ยงระหว่างการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 



อ้างอิง:

CoinTelegraph, Coinmarketcap, Investopedia, Wikipedia

Economy

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.