เหรียญคริปโตจากธนาคารคืออะไร?
Central Bank Digital Currency (CBDC) คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อใช้แทนเงินสกุลเงินของประเทศหรือภูมิภาคนั้น ๆ และเป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบันทึกธุรกรรม อธิบายง่าย ๆ คือ การแปลงสกุลเงินที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นรูปแบบดิจิทัล
CBDC มีลักษณะเป็น Stablecoin หรือเหรียญที่มีมูลค่าคงที่ มีความผันผวนต่ำ ทำได้โดยการตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ที่มีมูลค่าคงที่ แตกต่างจากคริปโทเคอร์เรนซี่ทั่วไป ที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน
ทำไมรัฐบาลจึงสนใจและเริ่มพัฒนา CBDC?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คริปโทเคอร์เรนซี่ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสมุดบัญชีสาธารณะหรือที่เรารู้จักกันในชื่อเทคโนโลยีบล็อกเชน เกิดเป็นการเงินแบบกระจายศูนย์และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บ้างก็มีความเห็นว่า คริปโทเคอร์เรนซีจะเป็นภัยคุกคามต่อระบบธนาคารแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าระบบรวมศูนย์ เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐหรือมีตัวกลางคอยกำกับดูแล
การไม่สามารถควบคุมการเติบโตและอิทธิพลของคริปโทเคอร์เรนซีได้ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มพิจารณาสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) โดยหน่วยของ CBDC จะทำหน้าที่เหมือนธนบัตรที่จะมีหมายเลขแตกต่างกันในแต่ละฉบับเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ
จุดประสงค์ของการออก CBDC นั้นมีอยู่หลายประการ ได้แก่
1.เพื่อลดการผูกขาด และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาบริการทางการเงินของภาคเอกชนมากเกินไป ซึ่งอาจทำรัฐบาลไม่สามารถคุมเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไว้ได้ รวมถึงการออกนโยบายต่าง ๆ ทางด้านการเงิน
2.ลดต้นทุนการผลิตธนบัตรหรือเหรียญ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชำระเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง
3.ง่ายต่อการติดตามการเคลื่อนไหว หรือตรวจสอบธุรกรรมที่อาจผิดกฎหมาย สำหรับบางประเทศอย่างประเทศจีน ที่ธนาคารจะบันทึกธุรกรรมทางการเงิน อาทิเช่น คนนี้มีเงินเท่าไหร่ ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้างแต่บางประเทศก็ไม่ค่อยชอบใจนโยบายแบบนี้นัก อย่างสหรัฐอเมริกาที่ต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน
CBDC ต่างกับเงินที่ใช้ผ่านแอปฯธนาคารทุกวันนี้อย่างไร?
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือเทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวก็หยิบยืมมาจากบิตคอยน์ คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology)
แทนที่จะเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของทุกคนแบบเป็นศูนย์กลาง บล็อกเชนคือการเก็บข้อมูลธุรกรรมในหลาย ๆ ที่ โดยแต่ละที่จะทำหน้าที่เก็บและจัดการธุรกรรมแยกกัน สำหรับ CBDC ส่วนใหญ่จะถูกจัดการโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ
ระบบบล็อกเชนของ CBDC เป็น บล็อกเชนที่ต้องได้รับอนุญาต (Permissioned Blockchain) ต่างกับบล็อกเชนของบิตคอยน์ที่ไม่จำเป็นต้องการขออนุญาตในการทำธุรกรรม (Permissionless Blockchain) โดยบล็อกเชนชอง CBDC มีหน่วยงานควบคุมว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลบนบล็อกเชนในระดับใดได้บ้าง เช่น อนุญาตให้นาย A อ่านข้อมูลบนบล็อกเชนได้ แต่อนุญาตให้นาย B สามารถอ่านและแก้ไขข้อมูลได้
ต่างจากบล็อกเชนของบิตคอยน์ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตว่าใครสามารถมีส่วนร่วมกับระบบจัดการและตรวจสอบข้อมูลธุรกรรม
ถึงแม้คริปโทเคอร์เรนซี่ในปัจจุบันจะสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนสกุลเงินได้แล้วในบางประเทศ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
CBDC กับ Stablecoin ต่างกันอย่างไร?
ลักษณะของเหรียญสองประเภทนี้ คล้ายกันในด้านการมีมูลค่าคงที่และความผันผวนต่ำ แต่ที่แตกต่างกันคือ ผู้ออกสินทรัพย์ และความถูกต้องตามกฎหมาย โดย Stablecoin ออกโดยบริษัทเอกชน เหรียญจะมีมูลค่าเทียบเท่ากับสินทรัพย์ที่นำไปตรึงหรือค้ำประกัน เช่น เงินหยวนหรือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเหมือนกับ CBDC ที่ถูกออกโดยธนาคารกลาง
CBDC ใช้บล็อกเชนหมดเลย ใช่หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ใช่ทุกประเทศที่เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ถึงแม้ว่าหลาย ๆ ประเทศจะมองว่าบล็อกเชนนั้นมีประโยชน์ แต่ก็ยังมีหลายประเทศ เช่น แคนนาดา ยูเครน และเนเธอร์แลนด์ ที่ยังมองว่าบล็อกเชนไม่เหมาะสำหรับการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิทัล
สรุป
โดยสรุปแล้ว CBDC คือเงินสกุลดิจิทัลที่ถูกสร้างโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีมูลค่าและการใช้งานเหมือนกับเงินสกุล Fiat แต่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนคอยเกื้อหนุนอยู่ หน่วยงานภาครัฐวางแผนที่จะก่อตั้งและใช้งานเทคโนโลยีนี้เพื่อพัฒนาระบบทางการเงิน อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนและ CBDC ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่อยู่ หลาย ๆ ประเทศจึงยังศึกษาการใช้งานของมัน
อ้างอิง:
Coindesk, Public, Private, Permissioned blockchain
Terms
บทความล่าสุด
โทเคนดิจิทัล| Price Today!
อัพเดทตลาด
เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.