Chart Pattern คืออะไร?

Chart Pattern คืออะไร?

การวิเคราะห์เชิง Chart Pattern คืออะไรกัน?

Chart Pattern หรือ Price Pattern คือหนึ่งในวิธีสำหรับการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis หรือ TA) ที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลายโดยเทรดเดอร์ที่หวังกำไรในระยะสั้น 



Chart Pattern คือรูปแบบของกราฟราคาที่ก่อตัวเป็นลักษณะตายตัว เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องแนวรับ-แนวต้านและ Trend Line พบเจอได้ทั่วไปในกราฟราคาของทุกตลาดทางการเงิน และมีความสามารถในการคาดการณ์ทิศทางของตลาดในอนาคต โดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติในอดีต 



รูปแบบของ Chart Pattern มีความหลากหลายมาก แต่สามารถจัดหมวดหมู่หลัก ๆ ได้ 2 รูปแบบ ดังนี้



1.รูปแบบกลับตัว (Reversal Pattern)

2.รูปแบบต่อเนื่อง (Continuous Pattern)





1.รูปแบบกลับตัว (Reversal Pattern) คือ Chart Pattern ที่มีแนวโน้มจะส่งผลให้เกิดการกลับตัวของทิศทางตลาดหากราคาหลุดออกจากแพทเทิร์น (Break out)



แพทเทิร์นรูปแบบนี้ ประกอบไปด้วย





Head and Shoulder 



รูปแบบ Head and Shoulder คือกราฟที่มีลักษณะคล้ายหัวและไหล่ที่ปรากฎขึ้นในตลาดขาขึ้น (Bull Market) ประกอบไปด้วยสามองค์ประกอบหลักคือ หัว ใหล่ และคอ โดยทั่วไปแล้ว ส่วนหัวจะมีความสูงที่สุด มีใหล่สองข้างล้อมรอบ และมีส่วนคอ (Neckline) เป็นแนวรับ หากราคาทะลุ (Break out) แนวรับส่วนคอลงไปแล้วก็จะเป็นการยืนยันว่าแนวโน้มของตลาดได้เปลี่ยนไปเป็นขาลงเรียบร้อย



ภาพจาก: ThinkMarkets





Inverse Head and Shoulder



เช่นเดียวกับ Head and Shoulder ที่เกิดขึ้นในตลาดขาขึ้น Inverse Head and Shoulder คือรูปแบบกราฟหัวและใหล่แบบกลับหัวที่เกิดขึ้นในตลาดขาลง ซึ่งก็คือแพทเทิร์นที่ทำหน้าที่บ่งบอกการกลับตัวของแนวโน้มในตลาด 



โดยองค์ประกอบของแพทเทิร์นนี้จะมีลักษณะคล้ายกับ Head and Shoulder แต่จะแตกต่างกันที่ทุกอย่างจะกลับหัว ส่วนหัวของแพทเทิร์นนี้จะเป็นส่วนที่ต่ำที่สุดแทน และส่วนคอทำหน้าที่เป็นแนวรับ ก็ถูกเปลี่ยนกลายเป็นแนวต้าน เมื่อเกิดการ Break out ที่แนวต้านจะเป็นการยืนยันการกลับตัวไปเป็นตลาดขาขึ้นแทน



ภาพจาก: ThinkMarkets





Double Top และ Triple Top



Double Top และ Triple Top คือลักษณะของแพทเทิร์นที่ราคาย่อตัวลงหลังจากทำราคาสูงสุด (High) ของช่วงนั้น แล้วกลับขึ้นไปทดสอบจุดเดิมซ้ำสองหรือสามรอบ โดยมีข้อแม้ว่า ในการทดสอบจุดสูงสุดราคาจะไม่ทะลุระดับสูงสุดเดิมไป ในกรณีที่ราคาขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดสองรอบ จะเรียกว่า Double Top ถ้าราคา ทดสอบระดับสูงสุดเดิมสามรอบ ก็จะเรียกว่า Triple Top ส่วนระดับต่ำสุดที่ราคาลงไปก่อนที่จะกลับขึ้นมาทดสอบจุดสูงสุดระดับนั้นจะเป็นแนวรับ



หากราคาหลุดแนวรับของแพทเทิร์นนี้ แนวโน้มของตลาดอาจเกิดการกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง เทรดเดอร์มักรอให้การ Break out สมบูรณ์ รวมถึงใช้เครื่องมือหรือความรู้อื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยก่อนจะตัดสินใจเทรด ซึ่งกลยุทธ์ที่แนะนำก็คือการสังเกตุหาสัญญาณ Divergence และการดู Volume ประกอบ





Double Bottom และ Triple Bottom



Double Bottom และ Triple Bottom จะคล้ายกับ Double Top และ Triple Top แต่เกิดขึ้นในตลาดขาลง โดยมักเกิดขึ้นในช่วงปลายตลาดขาลง ก่อนที่แนวโน้มของตลาดจะเปลี่ยนไปเป็นตลาดขาขึ้น (Bull Market) 



รูปแบบทั้งสองคือการลงไปทดสอบจุดต่ำสุดซ้ำสองหรือสามครั้ง ก่อนที่ราคาจะกลับตัวขึ้นเพราะแรงขายลดลง ถ้าลงมาทดสอบจุดเดิมซ้ำสองครั้ง จะเรียกว่า Double Bottom ถ้าสามครั้ง ก็จะเรียกว่า Triple Bottom



เช่นเดียวกับการเทรดด้วย Double/Triple Top เทรดเดอร์ที่ใช้แพทเทิร์น Double/Triple Bottom ควรรอสัญญาณการ Break out จากแนวต้าน ประกอบกับใช้เครื่องมืออื่น ๆ เพื่อช่วยวิเคราะห์





Wedge



Wedge คือการก่อตัวของกราฟราคาที่มีรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยม เอกลักษณ์ที่แบ่งแยก Wedge ออกจากแพทเทิร์นรูปสามเหลี่ยมชนิดอื่น ๆ ก็คือ นอกจาก Trend Line ของแพทเทิร์นนี้จะลู่เข้าหากันแล้ว ทั้งสองเส้นก็ต่างลาดหรือชันไปในทิศทางเดียวกันด้วย



โดยทั่วไป Wedge สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ Rising Wedge ที่มี Trend Line ทั้งสองชันขึ้น และ Falling Wedge ที่ Trend line ทั้งสองลาดลง





Rising Wedge



Rising Wedge คือแพทเทิร์นที่มีรูปร่างคล้ายโคนสามเหลี่ยมที่มีเส้น Trend Line ทั้งแนวรับและแนวต้าน เชิดขึ้น ทำให้ราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตาม อย่างไรก็ตาม Volume ในการซื้อกลับมักจะลดน้อยลง ส่งผลให้ เมื่อราคาเกิดการหลุดจากแนวรับ แรงขายจะถาโถมเข้ามาทำให้แนวโน้มในตลาดกลายเป็นขาลง



โดยทั่วไป แพทเทิร์นนี้มักเกิดขึ้นในตลาดขาขึ้น Rising Wedge จึงระบุได้ว่าเป็นกราฟรูปแบบกลับตัว (Reversal Pattern) อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดขึ้นในตลาดขาลง ก็จะถือว่าเป็นรูปแบบต่อเนื่อง (Continuous Pattern)



ภาพจาก: RoboForex





Falling Wedge



Falling Wedge คือรูปแบบ Wedge ที่มีรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมที่มีแนวต้านและแนวรับที่ลาดลง ตรงกันข้ามกับ Rising Wedge แพทเทิร์น Wedge ลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นในตลาดขาลง และเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับตัวขึ้น (Reversal Pattern) ดังนั้น เมื่อราคาผ่านแนวต้านขึ้นไป แรงซื้อก็มักจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มของตลาดเปลี่ยนไปเป็นขาขึ้น แต่ถ้า Falling Wedge อยู่ในตลาดขาขึ้นอยู่แล้ว ก็จะถูกระบุว่าเป็นรูปแบบต่อเนื่อง (Continuous Pattern)



2. รูปแบบต่อเนื่อง (Continuous Pattern) คือ รูปแบบที่เมื่อเกิดการ Break out ราคาจะดำเนินต่อไปตามแนวโน้มเดิม

แพทเทิร์นรูปแบบนี้ ประกอบไปด้วย Wedge ที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึง Pennant และ Flag Pennant และ Flag เป็นรูปแบบกราฟที่มีลักษณะคล้ายธง มักก่อตัวขึ้นหลังเกิดการย่อตัวของราคาที่เคลื่อนที่ไปทางใดทางหนึ่งมาสักพัก และถือเป็นกราฟรูปแบบต่อเนื่อง ทำให้เมื่อเกิดการหลุดออกจาก Trend Line ราคามักจะไปต่อตามแนวโน้มเดิม



กล่าวคือ ถ้าพบเจอรูปแบบดังกล่าวในตลาดขาลง ราคาก็มีแนวโน้มที่จะตกลงตาม เช่นเดียวกัน ถ้า Pennant หรือ Flag ก่อตัวในตลาดขาขึ้น ราคาก็มักจะสูงขึ้น



ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายธง และมีผลกระทบต่อกราฟราคาในทางเดียวกัน Pennant และ Flag กลับเป็นธงที่มีรูปร่างแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Pennant ในภาษาไทยแปลว่า ธงสามเหลี่ยม กราฟราคาจึงมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม ส่วน Flag แปลเป็นไทยหมายถึง ธงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะของกราฟจึงเป็นเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มี Trend Line ขนานกัน





Price Channel



Price Channel คือกราฟรูปแบบต่อเนื่องที่ประกอบไปด้วย Trend Line สองเส้นที่ขนานกันไปตามแนวโน้มของตลาด เรียกว่า Main Trend Line และ Channel คอยควบคุมไม่ให้ราคาเคลื่อนออกจากช่องนี้ และเป็นไปตามแนวโน้มของตลาด



Price Channel เกิดได้ในทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง โดยในตลาดขาขึ้น Main Trend Line คือ Trend Line ที่ทำหน้าที่เป็นเส้นแนวรับของ Price Channel ส่วน Channel Line จะเป็น Trend Line ที่ทำหน้าที่เป็นเส้นแนวต้าน ในส่วนของ Price Channel ที่เกิดขึ้นในตลาดขาลง เส้นแนวต้านจะถูกระบุเป็น Main Trend Line และเส้นแนวรับจะถูกระบุเป็น Channel Line



เทรดเดอร์สามารถทำกำไรจาก Price Channel ได้ด้วยกลยุทธ์สวิงเทรด ซึ่งก็คือการซื้อแถวแนวรับ แล้วขายแถวแนวต้านเพื่อทำกำไรในระยะสั้น หรือรอให้ราคาหลุดออกจาก Price Channel ก่อนจะตัดสินใจเทรด





Cup and Handle



Cup and Handle หรือกราฟที่มีลักษณะคล้ายแก้วมีหูจับ คืออีกหนึ่งรูปแบบของกราฟต่อเนื่อง เกิดขึ้นจากการพักตัวราคาในตลาดขาขึ้น ก่อนที่จะเคลื่อนที่ไปตามแนวโน้มเดิมต่อ ส่วนประกอบของแพทเทิร์นนี้มีอยู่หลัก ๆ สองส่วน คือส่วนแก้ว (Cup) ที่มีลักษณะเป็นโค้งหงายขนาดใหญ่ และส่วนหูจับ (Handle) ที่อยู่ทางขวาของแก้ว มีลักษณะเป็นรูปโค้งขนาดเล็ก โดยเทรดเดอร์จะใช้เส้น Trend Line บริเวณหูแก้วเป็นจุดยืนยันการ Break out ของรูปทรงนี้ 





Inverted Cup and Handle



Inverted Cup and Handle เป็นแพทเทิร์นที่ตรงกันข้ามกับ Cup and Handle รูปแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับถ้วยกลับด้านนี้ มักเกิดขึ้นในตลาดที่มีแนวโน้มขาลง ราคาตลาดที่ลดลงเรื่อย ๆ จะหยุดพักตัวที่แพทเทิร์นนี้ ก่อนที่จะ Break out ที่บริเวณหูแก้ว แล้วกลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงต่อ





Triangle



Chart Pattern รูปแบบ Triangle หรือรูปสามเหลี่ยม เป็นแพทเทิร์นรูปแบบต่อเนื่อง เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในทุกตลาด โดยรูปแบบกราฟสามเหลี่ยม แสดงให้เห็นถึงสภาวะการพักตัวออกข้าง (Sideway) ของราคา ก่อนที่จะไปต่อในทิศทางเดิม



หมายเหตุ ถึงแม้รูปแบบสามเหลี่ยมจะบ่งบอกความต่อเนื่องของแนวโน้ม แต่ก็มักเกิดขึ้นในช่วงตลาด Sideway ที่ยังไม่สามารถระบุแนวโน้มของตลาดได้ชัดเจน เทรดเดอร์ควรรอให้ราคาหลุดออกจากกรอบเพื่อยืนยันแนวโน้มของตลาดก่อนส่งคำสั่งซื้อหรือขาย



รูปแบบสามเหลี่ยมสามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทตามทิศทางของ Trend Line ที่วาดขึ้นด้วยการลากเส้นตรงเชื่อมต่อจุดสูงสุดของแต่ละช่วงเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกันกับจุดต่ำสุดในแต่ละช่วง โดยกราฟราคาในรูปสามเหลี่ยมจะมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ คือในช่วงแรกจะมีความกว้าง ก่อนที่จะแคบลงเรื่อย ๆ



ภาพจาก: DailyFX



Symmetrical Triangle



Symmetrical Triangle หรือสามเหลี่ยมสมมาตร คือลักษณะของรูปแบบกราฟสามเหลี่ยมที่ Trend Line ทั้งสองฝั่งลู่เข้าหากันด้วยองศาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดรูปสามเหลี่ยมที่สมมาตรตามชื่อ 





Descending Triangle



Descending Triangle หรือสามเหลี่ยมมุมก้ม คือรูปแบบกราฟสามเหลี่ยมที่มี Trend Line เส้นแนวรับขวางตามแนวราบ และมีเส้นแนวต้านที่เฉียงลง สามเหลี่ยมมุมก้มนี้ มักถูกพบในตลาดขาลง และมักจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าแนวโน้มจะดำเนินต่อ



Ascending Triangle



Ascending Triangle หรือสามเหลี่ยงมุมเงย คือรูปแบบของสามเหลี่ยมที่มักจะก่อตัวขึ้นในตลาดขาขึ้น มีลักษณะคล้าย Descending Triangle กลับหัว คือมีเส้นแนวต้านเป็นแนวนอนขนานกับแนวราบ และมีเส้นแนวรับลู่ขึ้น ทำให้มีลัษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมที่มีมุมเงยขึ้น เมื่อเกิดแพทเทิร์นนี้ขึ้นในตลาด ราคามักจะดำเนินต่อไปในแนวโน้มขาขึ้น





ข้อแนะนำ



แม้การใช้ Chart Pattern จะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและมีความแม่นยำสูง เทรดเดอร์ควรเรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้ความรู้อื่น ๆ เพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น รวมทั้งวางแผนในการเทรด และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีควบคู่กันด้วย เนื่องจากบ่อยครั้งที่การ Breakout ออกจาก Chart Pattern อาจจะเป็นแค่สัญญาณหลอก (False Breakout)





อ้างอิง:



Stockcharts.com, IG, Meawbininvestor.com, StartupForex

Trading

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.