Network Effect คืออะไร?

Network Effect คืออะไร?

Network effect หมายความว่าอะไร?

มนุษย์คือสัตว์สังคมโดยกำเนิด ธรรมชาติของเราจะแสวงหาปฎิสัมพันธ์กับคนรอบตัวเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คน ๆ เดียวจะสามารถทำได้ และนี่คือ Network effect ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่า Network effect คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร ส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง

ที่มาของ Network effect

คำว่า Network effect ถูกกล่าวครั้งแรกโดยนาย Robert Metcalfe ในปี ค.ศ.1980 ผู้ร่วมก่อตั้งระบบ Ethernet ซึ่งเป็นการกล่าวถึงคุณประโยชน์ที่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของมนุษย์ ต่อมาก็ได้กลายเป็นแบบอย่างที่ถูกประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โทรสาร โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และคริปโทเคอร์เรนซีที่เราใช้ทุกวันนี้



Network effect คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มคนหรือผู้มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นส่งผลให้มูลค่าของสินค้าหรือบริการสูงขึ้น เมื่อมีจำนวนผู้ใช้สูงขึ้น ส่งผลให้ดึงดูดผู้ใช้รายใหม่ ๆ เข้ามาและมีปฎิสัมพันธ์กันมากขึ้น เกิดเป็น Network effect ที่ทรงพลังและเป็นผลดีต่อทั้งเครือข่าย และยังเป็นการยากที่คู่แข่งหรือสินค้าอื่นจะมาแทนที่อีกด้วย

ตัวอย่างของ Network effect



หนึ่งในตัวอย่าง​ของ Network effect ในปัจจุบันคือ โทรศัพท์



โทรศัพท์ คือเครื่องมือที่เราใช้ติดต่อสื่อสารกัน แต่ถ้าหากมีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว โทรศัพท์ก็เป็นได้แค่โลหะที่ไร้ประโยชน์ จำเป็นต้องมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โทรศัพท์ถึงจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ที่สุด



หากเรานำมาคำนวนด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ เราจะเข้าใจได้ทันทีว่าเพราะอะไร Network effect ถึงทรงพลัง เรามีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวก็จะไม่เกิดการเชื่อมต่อกัน หากมีสองเครื่องก็จะเกิดการเชื่อมกัน 1 สาย ถ้ามีสามเครื่องก็จะเป็น 3 สาย ถ้าหากมี 100 เครื่องล่ะ? เราจะมีการเชื่อมต่อกันถึง 4,950 สาย และถ้าเป็น 100,000 เครื่องก็จะเกิดการเชื่อมต่อมากถึง 4,999,950,000 สาย เลยทีเดียว



เราสามารถคำนวณได้จากสูตร “กฎของเมตคาล์ฟ” (Metcalfe’s law) ที่ใช้คำนวณเกี่ยวกับการเชื่อมเครือข่ายของการสื่อสาร หากเราแทน c ด้วยจำนวนครั้งการเชื่อมต่อ และ n แทนจำนวนเครื่องในเครือข่าย



จะเกิดสูตรการคำนวณดังนี้

c = 0.5 x n x (n-1)

ในกรณีที่ n เพิ่มมากขึ้น สูตรจะถูกเปลี่ยนเป็น c = 0.5 x n2



โดยทั่วไป เราจะพบเห็น Network effect บนโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต ซึ่งในช่วงแรกมีผู้ใช้แค่คนกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อมีคนเข้าถึงมากขึ้น ผู้คนต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลหรือให้บริการ ทำให้เครือข่ายเติบโตขึ้น และสร้างกำแพงอันแข็งแกร่งที่ป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปได้โดยง่าย



อีกตัวอย่างที่สามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ Facebook แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ทุกคนรู้จักกันดี การมาของ Facebook ได้ส่งผลกระทบ (Disrupt) ต่อเจ้าตลาดที่มาก่อนอย่าง MySpace ที่ครองตลาดสหรัฐอเมริกาอยู่ ณ ขณะนั้น



MySpace คือบริษัทด้านโซเชียลมีเดียที่ถูกก่อตั้งเมื่อกลางปี ค.ศ. 2003 มีจำนวนผู้ใช้กว่า 100 ล้านคน และมีมูลค่ามากถึง 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท แต่ต่อมามูลค่าก็ลดลงอย่างรวดเร็วหลังการมาของ Facebook



Facebook คือบริษัทด้านโซเชียลมีเดียที่ตามมาและถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นปี ค.ศ. 2004 และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นก็สามารถมีผู้ใช้แตะหลักพันล้านและมีมูลค่าบริษัทมากถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 25 ล้านล้านบาท



ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้เป็นบางครั้ง แต่ Facebook ก็ยังครองตลาดในฐานะโซเชียลมีเดียอันดับ 1 มากว่า 17 ปี

แล้วทำไมคนยังใช้ Facebook โดยไม่ย้ายไปที่อื่น?



เหตุผลสำคัญคือการปรับตัวเข้ากับการใช้งานบนมือถือ การมาถึงของ iPhone เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ Facebook ที่สามารถปรับตัวได้ไวกว่า เติบโตอย่างก้าวกระโดดและสามารถครองตลาด เอาชนะ MySpace ไปได้ในที่สุด



ทำไมถึงไม่มีใครสามารถแทนที่ Facebook ได้ล่ะ?

การคงอยู่ของเครือข่ายได้สร้างข้อได้เปรียบเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่มีข้อดีที่เหนือกว่าเจ้าเก่ามากนัก ก็เป็นการยากที่จะทำให้ผู้ใช้เดิมย้ายไปใช้เครือข่ายอื่น



Network effect กับ บิตคอยน์ เกี่ยวกันอย่างไร?



เรามาพูดถึง Network effect กับ บิตคอยน์กันบ้าง เช่นเดียวกันกับ Facebook บิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นและเติบโตอย่างก้าวกระโดด บิตคอยน์เปรียบเสมือนประตูด่านแรกเมื่อกล่าวถึงคริปโทเคอร์เรนซี ไม่เพียงแต่ดึงดูดให้คนเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอย่างเดียว แต่ยังดึงดูดนักขุดให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเครือข่ายอีกด้วย ยิ่งมีเครือข่ายมีกำลังประมวลผลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งปลอดภัยและยากต่อการถูกโจมตีมากขึ้นเท่านั้น



ถึงแม้จะมีเหรียญอื่นที่พัฒนาให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย รวมถึง Smart contract, Dapp และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 จากบิตคอยน์ไปได้ ซึ่งบิตคอยน์มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 54.22% (ข้อมูล ณ วันที่ 15 เมษายน 2021 เว็บไซต์ Tradingview)



ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ BCH (Bitcoin cash) ที่เป็นเครือข่ายที่แยกออกมาจาก Bitcoin (BTC) จากนั้นก็ BCH ก็แยกออกเป็น BSV (Bitcoin Satoshi Vision) แม้ทั้งสองเหรียญนี้คือเหรียญที่ Hard Fork หรือแยกออกมามาจาก BTC โดยพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของ BTC แต่ก็ยังไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้แม้แต่ 5% ของบิตคอยน์



สมมุติว่าคุณสามารถวาดภาพได้เหมือนกับงานศิลปะระดับโลก สีที่ใช้ก็เหมือนกัน ขนาดของเส้นหรือแม้กระทั่งกรอบรูปอันเดียวกับของจริง ผู้คนก็ยังคงให้ค่ากับ “ของจริง” มากกว่าสิ่งที่เลียนแบบ



เช่นเดียวกับบล็อกเชนของบิตคอยน์ที่เป็น Open-source ใคร ๆ ก็สามารถนำโค้ดมาพัฒนาเป็นเหรียญใหม่ของตัวเองได้ แต่สุดท้ายแล้ว หากไม่ได้รับการยอมรับมากพอ ผู้คนก็ยังคงเลือกบิตคอยน์เป็นหลักอยู่ดี

สรุป

Network effect เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต และอื่น ๆ อีกมากมาย ปรากฏการณ์นี้คือการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คนในเครือข่าย ยิ่งเป็นเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่มากแค่ไหน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการทำงานภายในเครือข่ายก็จะมากขึ้นเท่านั้น และยังสามารถดึงดูดผู้ใช้รายใหม่ ๆ เข้ามาในเครือข่ายได้มากขึ้นอีกด้วย



สำหรับการเติบโตของเครือข่ายบิตคอยน์ ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจาก Network effect ทำให้บิตคอยน์ถูกแทนที่ได้ยาก แม้จะมีเหรียญใหม่เกิดขึ้นมาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถรักษาผู้ใช้เก่าเอาไว้และดึงดูดผู้ใช้ใหม่เข้ามา





อ้างอิง: 



Harvard business school, Investopedia, Bitcoin market capital, Network effect กับบิตคอยน์

Terms

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.