บล็อกเชนคืออะไร? เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร?
มาค้นพบคำตอบวันนี้ที่ Bitkub Academy!
บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร?
บล็อกเชน (Blockchain) คือเทคโนโลยีสำหรับการจัดเก็บข้อมูลเสมือนกับสมุดบัญชีสาธารณะที่มีความคล่องตัวในการดูแลข้อมูล ซึ่งระบบหรือฐานข้อมูลจะทำงานแบบกระจายอำนาจ (Decentralized) ด้วยการเชื่อมต่อระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer) หรือผู้ใช้งาน (Nodes) นั่นเอง
เมื่อระบบสามารถเชื่อมต่อกันโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ส่งผลมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง เพราะผู้ใช้ในเครือข่ายจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการตรวจสอบความถูกต้อง หรือยกระดับความปลอดภัย ซึ่งผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปรงใส และชุดสำเนาข้อมูลจะถูกแบ่งให้กับผู้ใช้ทั้งหมดเพื่อป้องกันการฉ้อโกง หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่าง ๆ ภายในระบบได้อีกด้วย
การทำงานของเทคโนโลยีบล็อกเชน
Blockchain มีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลไว้ภายในเครือข่าย โดยข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการแพทย์ จะถูกบรรจุไว้ในแต่ละ Block ที่มีการเชื่อมต่อระหว่าง Block ก่อนหน้า และ Block ต่อ ๆ ไป ผ่าน Chain หรือก็คือห่วงโซ่ที่เชื่อมต่อ ๆ กัน
เมื่อข้อมูลในแต่ละ Block ได้มีการเชื่อมต่อผ่าน Chain หากมีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลภายใน Block ก่อน ๆ ผู้ใช้ (Nodes) อื่น ๆ ที่ครอบครองชุดสำเนาข้อมูล ก็จะสามารถรู้ได้ทันทีว่ามีการเปลี่ยนแปลง และยืนยันผ่านเครือข่ายได้ว่า ชุดข้อมูลของใครนั้นผิด
แล้วการร่วมมือระหว่างผู้ไม่หวังดีเพื่อฉ้อโกงการทำงานของระบบละ? แม้ในทางทฤษฎี ผู้ใช้สามารถร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อคนกลุ่มเดียว (51% Attack) แต่ทว่าในทางปฏิบัตินั้น เป็นไปได้ยากเพราะเครือข่ายที่ทำงานแบบ Decentralized หมายความว่าผู้ใช้จะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นได้เรื่อย ๆ และพวกเขาเหล่าอาจรู้หรือไม่รู้จักกันมากก่อน
ระบบที่มีการทำงานอยู่ตลอดเวลาและเชื่อมต่อระหว่างกันโดยปราศจากตัวกลาง สามารถสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมทั่วโลกได้อย่างหลากหลาย ซึ่งผู้ใช้สามารถรักษาหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีมูลค่า โดยไม่จำเป็นต้องกังวลถึงการแทรกแซงจากการทำงานรูปแบบนี้
ความเชื่อมโยงของคริปโทเคอร์เรนซีกับบล็อกเชนคืออะไร?
Blockchain คือเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่าย เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำงานอยู่เบื้องหลังคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งบทบาทในการทำงานของสกุลเงินดิจิทัลนั้น นอกจากการส่งมูลค่าทางการเงินไปได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถสร้างแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (dApps) ต่าง ๆ ขึ้นบน Blockchain ผ่านการร่างสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
มากไปกว่านั้น ในแต่ละเครือข่ายก็จะมีระบบฉันทามติ (Consensus Algorithm) ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งระบบถูกออกแบบมาให้เกิดกลไกการทำงานที่ดึงดูดผู้ใช้งานเข้ามาในระบบ ผ่านการมอบผลตอบแทน (Reward) ให้กับการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมและยกระดับความปลอดภัยให้กับระบบ ก่อให้เกิดวินัยของผู้ใช้ที่จะช่วยเหลือกันโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อใจกันก็ได้
ตัวอย่างการใช้ Blockchain ร่วมกับภาคธุรกิจ
สิ่งที่อาจทำให้ผู้ใช้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้วยคริปโต รวมไปถึงผู้ประกอบธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความเข้าใจและเล็งเห็นความสำคัญและสะดวกของสกุลเงินดิจิทัล การใช้งาน Blockchain ร่วมกับธุรกิจอย่าง โรงพยาบาลที่สามารถส่งต่อข้อมูลได้ โดยที่ไม่ต้องแจ้งประวัติให้ยุ่งยาก ก็ถือเป็นหนึ่งในไอเดียที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
สรุป
เห็นแล้วหรือยัง? ว่า Blockchain และ Cryptocurrency คือองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดรูปแบบทางการเงินแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Finance) หรือสกุลเงินทางเลือกที่ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา ผู้ใช้ ไปจนถึงนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจการลงทุนอยู่เสมอ หวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ดี ๆ จากพวกเรา Bitkub Academy เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุน แล้วพบกันใหม่ในคอนเทนต์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊คหรือเว็บไซต์ Bitkub Academy
อ้างอิง:
Blockchain
บทความล่าสุด
โทเคนดิจิทัล| Price Today!
อัพเดทตลาด
เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.