Blockchain Bridge คืออะไร

Blockchain Bridge คืออะไร

ทุกวันนี้การใช้งานแพลตฟอร์มใด ๆ นั้นหากสามารถทำงานร่วมกันกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะนอกจากจะสะดวกสบายแล้วยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมได้ด้วย เช่น อีเมลที่ไม่ว่าคุณจะใช้ Gmail, Hotmail, Yahoo หรืออื่น ๆ ก็สามารถรับ-ส่งจดหมายหากันได้



ในคริปโทเคอร์เรนซีก็เช่นกัน เนื่องจากแต่ละเครือข่ายมีโครงสร้างที่ต่างกันไป ทำให้การนำเหรียญที่อยู่บนอีกเครือข่ายหนึ่งมาใช้ในอีกเครือข่ายนั้นโดยปกติแล้วไม่สามารถทำได้ เช่นการนำ Bitcoin ไปใช้บนเครือข่าย Ethereum แต่ปัญหานี้จะหมดไปเพราะการมีอยู่ของ “Blockchain Bridge”





Blockchain Bridge คืออะไร ?



Blockchain Bridge คือระบบที่ช่วยให้เครือข่ายบล็อกเชนมากกว่า 2 เครือข่ายที่มีโครงสร้างแตกต่างกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เปรียบเสมือนสะพานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างบล็อกเชนผ่านการถ่ายโอนข้อมูลและทรัพย์สินนั่นเอง เช่น เครือข่าย Ethereum และ Bitkub Chain



โดยคุณสามารถใช้ระบบ Bridge บน Bitkub Chain ได้ที่ https://bridge.bitkubchain.com





ทำไมต้องมี Blockchain Bridge ?



เครือข่ายบล็อกเชนแต่ละเครือข่ายนั้นมีกฎเกณฑ์และกลไกฉันทามติที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถสื่อสารข้ามเครือข่ายได้โดยตรง และแน่นอนว่าโทเคนต่าง ๆ ไม่สามารถย้ายระหว่าง 2 บล็อกเชนได้อย่างอิสระ ด้วยเหตุนี้เอง  Blockchain Bridge จึงเกิดมาเพื่อเชื่อมต่อบล็อกเชน



Blockchain Bridge นั้นให้ประโยชน์มหาศาลแก่ผู้ใช้งานบล็อกเชน โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มใหม่และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องยุ่งยากกับการเปลี่ยนแปลงเครือข่าย อย่างการซื้อเหรียญหนึ่งและขายเป็นอีกเหรียญหนึ่งที่เข้ากันได้กับเครือข่ายที่ต้องการ นักพัฒนาจากเครือข่ายต่าง ๆ ก็สามารถร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพให้ผู้ใช้ได้อีกด้วย





ประเภทของ Blockchain Bridge



1. Trusted Bridge คือ Bridge ที่มีการรวมศูนย์โดยดำเนินการผ่านตัวกลาง ทำให้การ Bridge นั้นสะดวกรวดเร็ว แต่ก็จะเสียความเป็น Decentralize ไป เช่น การนำ Bitcoin ไปใช้งานบนเครือข่าย Ethereum ก็จะใช้ Wrapped Bitcoin  (WBTC) ที่จะมีผู้ดูแลทรัพย์สิน (Custody) โดยจะทำการล็อก BTC ของผู้ใช้แล้วทำการสร้าง (Mint) WBTC ซึ่งเป็นมาตฐาน ERC-20 ขึ้นมาใหม่ในอัตราที่เท่ากันส่งไปยังเครือข่าย Ethereum เป็นต้น



2. Trustless Bridge คือ Bridge ที่มีการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เป็นตัวดำเนินการโดยผู้ใช้งานยังคงเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ทำให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินจะไม่ถูกจัดการโดยมือที่สามหรือตัวกลางอื่นใดนอกจากคุณเอง และการตรวจสอบธุรกรรมก็จะเป็นไปตามกระบวนการบล็อกเชนโดยเหล่าโหนดต่าง ๆ ในเครือข่าย





Blockchain Bridge ทำงานอย่างไร ?



เมื่อคุณต้องการส่งเหรียญใด ๆ ข้ามเครือข่าย Blockchain Bridge จะทำการล็อกเหรียญของคุณใน Smart Contract หรือกลไกอื่น ๆ และสร้างเหรียญใหม่ขึ้นมาในจำนวนที่เท่ากัน เมื่อผู้ใช้ต้องการแลกคืน เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาในตอนแรกก็จะถูกเผาทิ้ง (Burn) ตามจำนวนที่ต้องการแกลกเปลี่ยนในอัตราที่เท่ากัน



และในการตรวจสอบความถูกต้องนั้นก็เป็นไปตามประเภทของ Blockchain Bridge ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ หากเป็น Trusted Bridge ก็จะมีคนกลางคอยตรวจสอบ แต่หากเป็น Trustless Bridge ก็จะอาศัยกลไกฉันทามติในการตรวจสอบความถูกต้อง





ความเสี่ยงของ Blockchain Bridge



1. ความเสี่ยงด้าน Smart Contract

โค้ดคำสั่งใน Smart Contract นั้นอาจเกิดข้อผิดพลาดหรือช่องโหว่จนนำไปสู่ความเสียหายที่ไม่อาจคาดคิดจนทำให้ทรัพย์สินของผู้ใช้งานนั้นสูญหายไปได้



2. ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี

ความผิดพลาดของซอฟต์แวร์ ข้อผิดพลาดของมนุษย์ สแปม และการโจมตีที่ประสงค์ร้ายอาจส่งผลต่อการใช้งานได้



3. ความเสี่ยงจากการเซ็นเซอร์

ในการใช้งาน Blockchain Bridge ประเภท Trusted Bridge นั้นอาจเกิดการควบคุมหรือเซ็นเซอร์ข้อมูลโดยตัวกลางได้



4. ความเสี่ยงจากการกำกับดูแล

ผู้ดูแลสินทรัพย์ที่ไม่น่าเชื่อถือใน Blockchain Bridge ประเภท Trusted Bridge อาจสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อขโมยเงินของผู้ใช้





สรุป



Blockchain Bridge ถือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยให้คริปโทเคอร์เรนซีนั้นสามารถติดต่อสื่อสารข้ามเครือข่ายกันได้อย่างสะดวก และยังเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการใช้งาน Blockchain Bridge นั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจและประเมินความเสี่ยง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากตัวผู้ใช้เองหรือ Bridge ได้





อ้างอิง



Ethereum, The Story Thailand, Liquid

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด