DCA คืออะไร?

DCA คืออะไร?

DCA คืออะไร?



DCA ย่อมาจาก Dollar-Cost Average คือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน DCA เป็นกลยุทธ์ลงทุนระยะยาวที่นักลงทุนจะค่อย ๆ เก็บสะสมสินทรัพย์ที่ตนเชื่อมั่นไปเรื่อย ๆ อย่างมีระเบียบ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาด และสร้างวินัยในการลงทุน



นักลงทุนสามารถทำ DCA ได้ โดยแบ่งสัดส่วนของเงินทุนทั้งหมดออกหลาย ๆ ส่วน แล้วทยอยนำแต่ละส่วนมาซื้อสินทรัพย์ที่ต้องการเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน ด้วยความถี่ที่กำหนดเองอย่างมีวินัย ไม่ใช้อารมณ์ ความโลภ ความกลัว หรือความผันผวนของตลาด เข้ามีส่วนในการตัดสินใจซื้อขาย



นักลงทุนแบบ DCA จึงมักไม่สนใจราคาของสินทรัพย์ ณ ขณะที่ส่งคำสั่งซื้อ แต่คำนึงถึงภาพรวมราคาเฉลี่ยของทุก ๆ คำสั่งแทน





ตัวอย่างของ DCA



สมมุติ บ็อบต้องการลงทุนในบิทคอยน์ด้วยงบ 12,000 บาทต่อปี โดยจะ DCA ทุก ๆ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน บ็อบต้องนำเงินทุนก้อนนั้นหารกับ 12 บ็อบก็จะทราบว่าต้องใช้เงิน 1,000 บาทสำหรับการลงทุนในแต่ละเดือน 



จากนั้นก็ถึงขั้นตอนลงมือทำ ทุก ๆ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน บ็อบจะต้องซื้อบิทคอยน์เป็นมูลค่า 1,000 บาท โดยไม่เกี่ยงว่าบิทคอยน์ ณ ตอนนั้นมีราคาเท่าไหร่



เมื่อครบปี บ็อบจะซื้อบิทคอยน์ไปด้วยเงินทุน 12,000 บาท แต่จำนวนบิทคอยน์ที่บ็อบได้จะขึ้นอยู่กับราคาเหรียญที่ซื้อในแต่ละเดือน ถ้าบิทคอยน์มีมูลค่าสูง บ็อบก็จะซื้อได้น้อย ถ้ามีมูลค่าต่ำ บ็อบก็จะซื้อได้บิทคอยน์มากขึ้นด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม





ข้อดี



กลยุทธ์ DCA คือรูปแบบการลงทุนสามารถลดความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ที่ราคาสินทรัพย์อาจสวนกับทิศทางที่นักลงทุนคาดหมายได้ เพราะการแบ่งทุนออกไปหลาย ๆ ส่วน ส่งผลให้กรณีที่เกิดความเสียหาย เงินทุนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ต่างจากการลงทุนแบบ Lump-sum หรือการลงทุนด้วยเงินก้อน ถ้าลงทุนผิดจังหวะก็อาจได้รับความเสียหายสูง



นอกจากนี้ การที่นักลงทุนต้องซื้อสินทรัพย์ตามเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด นักลงทุนแบบ DCA จึงมีวินัยในการลงทุนสูง และสามารถตัดการใช้อารมณ์ในการเทรดได้





ข้อเสีย



ถึงแม้ DCA ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็มีโอกาสที่ราคาของสินทรัพย์ที่นักลงทุน DCA อาจอยู่ในช่วงขาลงหรือทรงตัว หมายความว่านักลงทุนอาจเสียเงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับผลกำไรตอบแทน หรืออาจขาดทุนมหาศาลก็เป็นได้



ข้อเสียอีกอย่างคือ การลงทุนรูปแบบนี้ ไม่ควรเปลี่ยนแนวทางกลางคัน ไม่ว่ามูลค่าหรือข่าวสารจะน่าดึงดูดแค่ไหน เพราะจะทำให้เสียวินัย ฉะนั้น นักลงทุนประเภทนี้จึงอาจเสียโอกาสในบางครั้ง ขณะที่นักลงทุนประเภทอื่นอาจกอบโกยผลกำไรกันไปได้





อ้างอิง:



Investopedia, BinanceAcademy, KrungsriGuru

Trading

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด