DEX คืออะไร?

DEX คืออะไร?

DEX คือทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่?

สำหรับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี นักลงทุนต้องใช้บริการกระดานเทรด หรือที่เรียกว่า Cryptocurrency Exchange

แต่รู้หรือไม่ ว่านอกจากกระดานเทรดที่ให้บริการโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือที่เรียกว่า CEX (Centralized Exchange) แล้ว ก็มีกระดานเทรดอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า DEX หรือ Decentralized Exchange ที่ซึ่งใช้กลไกอื่นในการดูแลระบบซื้อขายอีกด้วย





CEX คืออะไร



CEX (Centralized Exchange) คือตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไปที่นักลงทุนต่างคุ้นเคยกัน ซึ่งบิทคับก็เป็นหนึ่งใน Exchange ประเภทนี้ด้วยเช่นกัน CEX มีเอกลักษณ์ในด้านความง่ายในการเข้าถึงและใช้งาน มีความคุ้มครองโดยกฎหมาย มีพนักงานคอยให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานเสมอ และสามารถใช้เงิน Fiat ในการเทรดได้



อย่างไรก็ตาม CEX ก็มีข้อเสียหลัก ๆ อยู่ที่ ด้วยความที่นักลงทุนในนี้ไม่ได้ครอบครองกุญแจส่วนตัวของกระเป๋าคริปโตเอง แต่เป็นทาง CEX ที่ถือไว้ ทุก ๆ ธุรกรรมบน Exchange จึงถือว่าเป็นคำสั่งจากนักลงทุนผ่านให้กับ Exchange ไปเทรดอีกครั้งหนึ่งบนบล็อกเชนโดยตรง 



ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องเลือกใช้แพลตฟอร์ม Exchange ที่น่าเชื่อถือ เนื่องจาก หากแพลตฟอร์มทุจริต หรือถูกแฮ็คจากภายนอก ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนั้นก็จะเสียหายไปด้วย





DEX คืออะไร



DEX (Decentralized Exchange) คือ แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี เช่นเดียวกับ CEX แต่แตกต่างกันที่ แพลตฟอร์มลักษณะนี้ถูกสร้างโดย Smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะของบล็อกเชนที่ทำให้นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่าง Exchange



ด้วยความที่ไม่มีมือที่สามมาควบคุม เหรียญคริปโตของนักลงทุนจึงจะได้อยู่ในการครอบครองของนักลงทุนจริง ๆ คือในกระเป๋าคริปโตส่วนตัวนั่นเอง การทำธุรกรรมบน DEX จึงถูกส่งตรงเข้าไปยังกระเป๋าคริปโตที่ต้องการได้เลย





ประเภทของ DEX

ลักษณะของ DEX สามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทตามลักษณะ



1.On-chain order book



On-chain order book คือประเภทของ DEX ที่มีความกระจายอำนาจ หรือ Decentralized และความโปร่งใสสูงที่สุดในสามรูปแบบ เนื่องจากทุก ๆ คำสั่งทางธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งซื้อ ขาย หรือแม้แต่คำสั่งยกเลิกการทำธุรกรรม ล้วนแล้วจะถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่มากเช่นนี้ DEX รูปแบบนี้จึงต้องแลกมากับประสิทธิภาพที่ช้าลง และการจ่ายภาษีค่าดำเนินการที่ราคาสูงขึ้น



2.Off-chain order book



Off-chain order book คือลักษณะของ DEX ที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกับรูปแบบก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ข้อมูลทางธุรกรรมส่วนมากจะถูกบรรจุไว้นอกบล็อกเชน DEX รูปแบบนี้จึงมีความ Centralized หรือการรวมศูนย์อำนาจพอสมควร อย่างไรก็ตาม ด้วยสาเหตุที่ข้อมูลบนบล็อกเชนมีไม่เยอะ การดำเนินการทางธุรกรรมจึงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม้จะไม่เร็วเทียบเท่า CEX ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ DEX ระบบ Off-chain order book จึงไม่เป็นที่นิยมใช้งานกันสักเท่าไหร่



3.Automated Market Maker (AMM)



AMM คืออีกหนึ่งลักษณะของ DEX ที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจาก DEX ลักษณะนี้ไม่ต้องอาศัยคู่ร่วมทำธุรกรรมฝ่ายตรงข้าม (Market maker และ taker) เพื่อทำการแลกเปลี่ยนเหรียญ เนื่องจาก Automated Market Maker หรือผู้ดูแลสภาพคล่องอัตโนมัติจะมีอัลกอริธึมที่สร้างโอกาสให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มสามารถเข้ามาเพื่อสลับเหรียญกับทาง DEX ได้เลย โดยไม่ต้องผ่าน Market maker คนใดคนหนึ่ง 



โดยย่อ AMM จะใช้ Smart contract เพื่อสร้าง Liquidity pool กลไกที่จะมอบรางวัลตอบแทนกับผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยกู้ หรือสร้างสภาพคล่องในตลาดนั่นเอง นักลงทุนผู้ต้องการสร้างรายได้แบบ Passive income จึงสามารถเข้ามาปล่อยกู้ในแพลตฟอร์ม DEX แบบ AMM ได้ สภาพคล่องในตลาดจึงค่อนข้างสูง ง่ายต่อการแลกเปลี่ยนเหรียญ



นอกจากนี้ ทุกการเทรดก็ต้องผ่านขั้นตอนการจดบันทึกในบล็อกเชน DEX ดังกล่าว จึงมีทั้งฟังก์ชันการใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์ มีความโปร่งใส และการกระจายอำนาจ DEX รูปแบบนี้จึงมีความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน



ข้อดี



จากที่นักลงทุนหลาย ๆ ท่านอาจจะมองว่าการ KYC (Know Your Customer) และ AML (Anti-Money Laundering) เป็นปัญหาสำคัญในการสมัครสมาชิกบน CEX เนื่องจาก ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพราะกลัวที่ข้อมูลดังกล่าวจะรั่วไหลออกไป การใช้งาน DEX ถือเป็นการแก้ปัญหานั้นได้ดี  เพราะ DEX ต้องการเพียงข้อมูลกระเป๋าคริปโตเท่านั้น



เงินของผู้ใช้งานก็จะถูกเก็บไว้ในครอบครองโดยเจ้าของในกระเป๋าคริปโตดังกล่าว จึงถือได้ว่ามีความปลอดภัยต่อความเสี่ยงที่อาจจะพบจาก CEX ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตภายในหรือการที่ Exchange โดนแฮ็ก และด้วยความที่นักลงทุนไม่ได้ใช้ CEX ในการเทรด เหรียญที่ยังไม่ได้ถูกลิสต์เข้าไปใน CEX ก็มักจะสามารถซื้อขายได้ในแพลตฟอร์ม DEX ก่อน





ข้อเสีย



การใช้งาน DEX นั้นมีความยุ่งยากสูงกว่า CEX มาก ฟังค์ชันใช้งานค่อนข้างเข้าใจได้ยากสำหรับมือใหม่ และปัจจัยความปลอดภัยก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุนทั้งหมดอีกด้วย นักลงทุนจึงต้องพึงระวังเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ เสมอ เนื่องจากไม่มีแพลตฟอร์มใดมารับประกันความปลอดภัยให้ เพียงแค่การเก็บรักษารหัสกุญแจส่วนตัวไว้ในคอมพ์พิวเตอร์ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแฮ็กแล้ว 



นอกจากนั้น ค่าภาษีการดำเนินการของ Smart contract หรือที่เรียกว่า Gas fee ยังเป็นประเด็นที่ต้องพึงระวังอีกด้วย การใช้งาน DEX บนบางเครือข่าย อาจจะมี Gas fee ที่สูงกว่าเงินลงทุนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ DEX แบบ On-chain order book





สรุป



DEX (Decentralized Exchange) คือตลาดแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ดำเนินการด้วย Smart contract ผู้ใช้งานจึงจะได้ทำธุรกรรมโดยตรงด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านมือที่สาม อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นส่วนตัวที่ได้รับ ผู้ใช้ DEX ต้องแลกมาด้วยความปลอดภัยที่ต้องรับผิดชอบเอง และความยุ่งยากในการใช้งาน



ผู้ที่สนใจ DEX ควรมีความรู้การใช้งานและความระมัดระวังที่มากพอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์





อ้างอิง



Decrypt, Binance Academy, Gemini, Finnomena

Terms

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด