ก่อนอื่น ทฤษฎีดาวแปลว่าอะไร?
ทฤษฎีดาว คือทฤษฎีการวิเคราะห์ตลาด ที่ถูกคิดค้นมายาวนานกว่า 100 ปี และเป็นต้นแบบของการวิเคราะห์ราคาด้วยปัจจัยทางเทคนิค (Dow Theory)
หลักการทฤษฎีดาว
1. ราคาสะท้อนทุกอย่างในตลาด
ราคาที่พุ่งขึ้นหรือร่วงลงนั้นส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงิน
2. ปริมาณการซื้อ-ขาย ต้องสัมพันธ์กับแนวโน้มราคา
ถ้าราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ปริมาณซื้อก็ควรเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าราคาอยู่ในแนวโน้มขาลง ปริมาณขายก็ควรเพิ่มมากขึ้น แต่หากปริมาณการซื้อ-ขาย ไม่สัมพันธ์กับราคา ก็อาจเกิดการกลับตัวได้
ถ้าราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่ปริมาณซื้อลดลงเรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาณว่าราคาไม่ได้เป็นขาขึ้นอย่างแท้จริง หรือเป็นการขึ้นเพื่อลงต่อ เช่นเดียวกับแนวโน้มขาลง ถ้าปริมาณขายลดลงเรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาณว่าราคาไม่ได้เป็นขาลงอย่างแท้จริง หรือเป็นการลงเพื่อขึ้นต่อ
3. ราคาต้องยืนยันซึ่งกันและกัน
ตามทฤษฎีดาว ราคาของสินทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (New high) ดัชนีของหุ้นกลุ่มขนส่งต้องทำจุดสูงสุดใหม่ด้วยเช่นกัน
สำหรับคริปโทเคอร์เรนซี เราอาจจะยังไม่สามารถดูความสัมพันธ์ในแบบดัชนีได้มากนัก เนื่องจากอยู่ในรูปแบบดิจิทัล และยังไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าหรือบริการอื่น ๆ เพื่อทำงานร่วมกัน
4. แนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าจะเปลี่ยนแนวโน้ม
การที่ราคากำลังวิ่งไปในแนวโน้มใด ๆ หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ราคาก็จะยังคงอยู่ในแนวโน้มนั้นต่อไป จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือมีข่าวที่ทำให้ราคาวิ่งในทิศทางตรงข้ามกัน และต้องรอยืนยันการกลับตัวสักพัก ซึ่งในจุดนี้อาจจะเป็นการย่อเฉย ๆ หรือเป็นการกลับตัวอย่างแท้จริงก็ได้
5. แนวโน้มของตลาด มี อยู่ 3 รูปแบบ
5.1 แนวโน้มใหญ่ (Primary Trend) คือการเคลื่อนไหวของราคาในระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เราจะเห็นแนวโน้มของตลาดได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งแบ่งเป็น แนวโน้มขาขึ้น และแนวโน้มขาลง
5.2 แนวโน้มรอง (Intermediate Trend) คือการเคลื่อนไหวของราคาในระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ 1 เดือนขึ้นไป เป็นช่วงแนวโน้มที่เมื่อนำมารวมกันแล้ว จะเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่อีกที
5.3 แนวโน้มย่อย (Minor Trend) คือการเคลื่อนไหวของราคาในระยะเวลาตั้งแต่ประมาณไม่เกิน 1 เดือน จะมีความผันผวนมาก เราสามารถดูแนวรับ-แนวต้านในแนวโน้มรองประกอบเพื่อหาจุดเข้า-ออกได้
6. ตลาดมีการเคลื่อนไหวหลัก 3 รูปแบบ
6.1 ช่วงสะสมหุ้นคือ ช่วงที่ราคาอยู่จุดต่ำสุด หรืออยู่ต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสจะรีบซื้อไว้
6.2 ช่วงไล่เก็บหุ้นคือ ช่วงที่แนวโน้มราคาเริ่มเห็นชัดเจน ทำให้นักลงทุนเริ่มเข้ามาซื้อตามแนวโน้มกันมากขึ้น
6.3 ช่วงแจกจ่ายหุ้นคือ ช่วงที่ปรากฏหลังเกิดแนวโน้มขาขึ้นมาจนสุดแล้ว นักลงทุนที่ได้ซื้อไว้ตั้งแต่แรก ๆ จะเริ่มขายทำกำไรออก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะลดลงในระยะยาวได้
แนวโน้มใหญ่กับวัฎจักรตลาด
เนื่องจากเราสามารถเห็นแนวโน้มตลาดได้ชัดเจนที่สุดในช่วงแนวโน้มใหญ่ และแนวโน้มก็มักจะเกิดขึ้นเป็นรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ จนกลายเป็น “วัฎจักรตลาด” การที่เรารู้ว่ากำลังอยู่ในช่วงวัฎจักรไหนของตลาดจะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นว่าควรวางแผนการลงทุนอย่างไร
ในแนวโน้มใหญ่ จะมีการแบ่งระยะของราคาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะขาขึ้น และ ระยะขาลง ดังนี้
ระยะขาขึ้น หรือ ตลาดกระทิง (Bull Market) ซึ่งมี 3 ช่วงดังต่อไปนี้
1. ช่วงสะสม หรือช่วง “เก็บของ” (Accumulation Phase)
ช่วงเก็บของคือ ช่วงที่เพิ่งผ่านตลาดขาลงมาได้สักระยะ นักลงทุนที่มีประสบการณ์จะเริ่มทยอยซื้อกัน เนื่องจากราคาร่วงลงมาจุดต่ำสุด ช่วงนี้อาจยังไม่มีข่าวสารที่ส่งผลต่อราคา ขณะที่สายเทคนิคก็อาจไม่มีสัญญาณชัดเจนมากนัก
2. ช่วงการรับรู้ตลาดขาขึ้น หรือช่วง “กักตุน” (Participation Phase)
ช่วงกักตุนคือ ช่วงที่นักลงทุนเริ่มเข้าซื้อตามแนวโน้มราคาที่เกิดขึ้น เริ่มมีข่าวที่ส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสายเทคนิคเริ่มมีสัญญาณให้เข้าซื้อ
3. ช่วงขาขึ้นอย่างรุนแรง (Excess Phase)
หลังจากที่แนวโน้มราคาเป็นขาขึ้นมาแล้ว หลาย ๆ คนมีการพูดถึงและบอกต่อจนเกิดเป็นกระแส หรือเป็นที่รู้จัก คุ้นหู ทำให้มีการเข้าซื้อกันมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นไปอีก จังหวะนี้นักลงทุนที่เคยเข้าซื้อมาก่อนหน้านี้ จะเริ่มเห็นว่าอยู่ในจุดที่ควรขายเพื่อเก็บกำไรออกมาบ้าง จึงทำการทยอยขายออก ซึ่งช่วงนี้เอง จะเป็นช่วงที่มีกระแส FOMO หรือ Fear of Missing Out เข้ามาค่อนข้างมาก เพราะกลัวว่าจะพลาดโอกาสทำกำไรจากขาขึ้น
ระยะขาลง หรือ ตลาดหมี (Bear Market) มี 3 ช่วงดังนี้
1. ช่วงแจกจ่าย (Distribution Phase)
เมื่อนักลงทุนที่มีประสบการณ์ได้ทำการเก็บกำไรไปเรียบร้อยแล้ว ก็จะเหลือแต่นักลงทุนหน้าใหม่ด้วยกันเอง ทำให้ราคาเริ่มขยับได้น้อยลง ส่งผลให้ตลาดเริ่มซบเซา และราคาทยอยลดลง บวกกับสายเทคนิคที่มองเห็นว่าแรงขาขึ้นของตลาดเริ่มอ่อนลง จึงเริ่มทำการขายเพื่อรักษากำไร หรือตัดขาดทุน
2. ช่วงการรับรู้ตลาดขาลง (Participation Phase)
ช่วงการรับรู้ตลดขาลง คือช่วงเวลาที่นักลงทุนเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มชัดเจนขึ้น มีการเทขาย หรือตัดขาดทุน เนื่องจากราคาร่วงลงมาเรื่อย ๆ และอาจมีข่าวที่ส่งผลให้ราคาร่วงหนักกว่าเดิม จุดนี้อาจมีนักลงทุนบางส่วนทำการช้อนซื้อเพิ่มเพราะเห็นโอกาสจากราคาลงมาต่ำ ทำให้ราคาเกิดการดีดตัวกลับขึ้นไปช่วงสั้น ๆ หรือที่เรียกว่า “Rebound” แต่ภาพรวมก็ยังคงเป็นขาลง
3. ช่วงตื่นตระหนก (Panic Phase)
ช่วงตื่นตระหนกคือ หนึ่งชวงที่พบได้บ่อย โดยหลังจากที่ตลาดเข้าสู่ขาลงและมีการกลับตัวเพื่อลงต่อเป็นระยะ ๆ สุดท้ายนักลงทุนที่ยังขาดทุนอยู่ ก็พากันเทขายทิ้ง หรือบางส่วนอาจเลือกถือต่อ และเมื่อราคาร่วงไปยังจุดหนึ่ง ราคาจะเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง วนเป็นวัฏจักรแบบนี้ต่อไป
จะเห็นได้ว่า หากเรารู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในจุดไหนของตลาด ก็จะช่วยให้การตัดสินใจซื้อ-ขายมีแบบแผนมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการวิเคราะห์ทางเทคนิค หรือการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานก็ได้เช่นกัน
อ้างอิง:
Zyo71 Moneybuffalo ideatechnical Stock2morrow BinanceAcademy Investopedia
Trading
บทความล่าสุด
โทเคนดิจิทัล| Price Today!
อัพเดทตลาด
เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.