Pancakeswap คืออะไร?

Pancakeswap คืออะไร?

Pancakeswap แพลตฟอร์มซื้อขายแบบกระจายอำนาจที่มาแรงเป็นอันดับต้น ๆ 

นอกจาก Bitkub Exchange ที่ถือเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบรวมอำนาจหรือ Centralized Exchange (CEX) คือแพลตฟอร์มที่มีตัวกลางคอยควบคุมและดูแลการทำงานของแพลตฟอร์มแล้ว แพลตฟอร์มอย่าง Pancakeswap คือเหรียญอีกด้านหรือแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบกระจายอำนาจ



สงสัยไหม? ว่า Pancakeswap คืออะไร? ถ้าพร้อมแล้วมาทำความเข้าใจกันเถอะ!





Pancakeswap คืออะไร?



Pancakeswap คือแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบกระจายอำนาจ หรือที่เรียกว่า Decentralized Exchange (DEX) ที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลบนเครือข่ายของ Binance Smart Chain (BNB) ซึ่งรวมถึงโทเคนมาตรฐาน BEP-20 ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจับคู่คำสั่งซื้อขาย (Order Book) เพราะแพลตฟอร์มรูปแบบนี้จะมีการใช้งานเทคโนโลยีอย่าง Automated Market Maker หรือ AMM นั่นเอง



Pancakeswap ถูกสร้างขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2020 โดยกลุ่มนักพัฒนาปริศนาที่ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งแพลตฟอร์มถูกสร้างขึ้นบนเครือข่าย BNB และเป็นแพลตฟอร์มที่ได้มีการนำ Smart Contract ของทาง Sushiswap มาใช้เพื่อพัฒนา Pancakeswap ต่อบนเครือข่ายดังกล่าว 



รู้หรือไม่? Sushiswap ก็นำ Smart Contract ของ Uniswap มาใช้ในการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเช่นกัน





การทำงานและจุดเด่นของแพลตฟอร์ม Pancakeswap คืออะไร? 



การทำงานของแพลตฟอร์ม Pancakeswap คือกลไกหรือฟังก์ชันต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นภายในแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้ได้ แต่จะมีอะไรบ้าง? ไปดูกัน!



ในแง่การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลบน Pancakeswap คือแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้สามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนได้ทันทีเพราะแพลตฟอร์มที่มีกลไกการทำงานด้วยเทคโนโลยี AMM จะมีการสำรองสภาพคล่องหรือเหรียญไว้ภายในแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อหรือขายเหรียญที่รองรับบนแพลตฟอร์มได้ทันที โดยไม่ต้องจับคู่



คลังสินทรัพย์รวม หรือ Liquidity Pool คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้ซื้อผู้ขายสามารถทำธุรกรรมได้ทันที ผ่านการดึงสินทรัพย์ที่อยู่ใน Liquidity Pool ที่เหล่าผู้มอบสภาพคล่อง (Liquidity Provider) ได้ฝากไว้ ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบริการ และค่าธรรมเนียมนั้นก็จะเป็นผลตอบแทนให้กับผู้มอบสภาพคล่องนั่นเอง



และเมื่อพูดถึง Liquidity Provider ก็แสดงว่ามีการลงทุนแบบ Yield Farming คือการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ทำบนแพลตฟอร์ม DeFi (Decentralized Finance) ที่ทำงานโดยอัตโนมัติด้วยสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งผู้ใช้สามารถนำเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีมาลงทุนใน DeFi หรือ DEX เพื่อรับผลตอบแทนได้



จุดเด่นของ Pancakeswap คือการกระจายอำนาจ (Decentralization) ที่ผู้ใช้จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ 100% เพราะการทำงานแบบไม่มีตัวกลางเหมือนแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์อย่าง Bitkub Exchange แต่ผู้ใช้งานจะต้องมีกระเป๋าที่ใช้เป็นของตัวเองก่อนการเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนหรือใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ 



นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถใช้งานฟีเจอร์อื่น ๆ อย่างการ Staking บนแพลตฟอร์ม เพื่อรับผลตอบแทน, การเข้าร่วมการระดมทุนรูปแบบ IFO (Initial Farm Offering) ของเหรียญใหม่ ๆ ผ่านแพลตฟอร์มของ Pancakeswap, และระบบ Lottery สำหรับนักลงทุนที่ชอบการเสี่ยงทาย เป็นต้น





ข้อควรระวังก่อนการใช้งาน Pancakeswap คืออะไร?



การใช้งานแพลตฟอร์มกระจายอำนาจอย่าง Pancakeswap จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจพื้นฐานการใช้งานอย่างครบถ้วน และมากกว่าการเทรดบน Centralized Exchange เช่น Bitkub เพราะการใช้งานที่ปราศจากความเข้าใจอาจส่งผลให้สินทรัพย์ของท่านสูญหายและยากต่อการช่วยเหลือและกู้คืน



มากไปกว่านั้น นักลงทุนสามารถยกระดับความปลอดภัยให้กับกระเป๋าดิจิทัลอย่าง Metamask ได้ผ่านการเชื่อมกระเป๋า Hardware Wallet อย่าง Trezor หรือ Ledger เพื่อเป็นกำแพงอีกชั้นก่อนการทำธุรกรรมทุก ๆ ครั้ง ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อได้ผ่าน Facebook Page Bitkub Academy ได้ด้วยน้า~





สรุป



Pancakeswap คือแพลตฟอร์มที่มาแรงและอาจเรียกได้ว่าเป็นอันดับ 1 ในแง่ของปริมาณการซื้อขายต่อวัน (Trading Volume) บนเครือข่าย BNB ทว่าการใช้งานบนแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจต้องศึกษาและทำความเข้าใจความเสี่ยงอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดระหว่างการใช้งานที่ก่อให้เกิดการสูญเสียหรือสูญหายของสินทรัพย์ของคุณ



การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนการลงทุนอยู่เสมอเพื่อป้องกันความเสียหายจากการลงทุนนะทุกคน!





อ้างอิง:

Messari, CoinMarketCap, Decrypt, Pancakeswap

Trading

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล

อัพเดทตลาด