Polygon (MATIC) คืออะไร ?

Polygon (MATIC) คืออะไร ?

เหรียญ MATIC คืออะไร และ Polygon สามารถรองรับการสร้าง dApps ได้จริงหรือไม่?



เหรียญ MATIC คืออีกหนึ่งเหรียญที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ Ethereum หรือ Cardano แต่ทว่า มีกี่คนที่ทราบว่าเหรียญนี้ทำงานอย่างไร และแพลตฟอร์ม Polygon รองรับการทำงานรูปแบบใดบ้าง?





MATIC คืออะไร?



Polygon (MATIC) คือเครือข่ายบล็อกเชนที่อยู่บนเลเยอร์ที่ 2 (Layer-2) ทำงานบนเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum 



Polygon นั้นจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความรวดเร็วและการปรับขนาดของเครือข่าย จากเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ที่เป็นเชนหลัก และแก้ไขจุดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน เช่น ค่าธรรมเนียมที่สูงและความเร็วในการทำธุรกรรมที่ต่ำ โดยไม่สูญเสียความปลอดภัย ด้วยการใช้ Plasma Chains เพื่อแก้ปัญหาการปรับขนาดบน Layer-2 และ PoS Chain โดยรวม2อย่างนี้เข้าด้วยกัน

ทีมผู้พัฒนา



Polygon เปิดตัวในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2017 ก่อตั้งโดย Jaynti Kanani, Sandeep Nailwal และ Anurag Arjun โดย Polygon นั้นมีชื่อเดิมว่า Matic Network ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็น Polygon ในปี ค.ศ. 2021





จุดเด่นของ MATIC



Polygon ยังมีระบบ Multi-chain ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างบล็อกเชนส่วนตัวหรือในระดับองค์กรเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินได้ ที่คล้ายกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น Polkadot, Cosmos และ Avalanche เป็นต้น แต่มีข้อได้เปรียบดังนี้



1. สามารถใช้คุณสมบัติต่างๆของเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ได้อย่างเต็มที่



2. เปิดกว้างและมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจาก Polygon นั้นพัฒนาจาก Ethereum นั่นทำให้การนำส่วนใดๆที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของ Ethereum บางอย่างนำมาปรับใช้กับ Polygon ได้



สำหรับนักพัฒนา คุณไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาใดๆสำหรับเขียนโปรแกรมเพิ่ม การพัฒนานั้นจะคล้ายกับ Ethereum และไม่มีค่าธรรมเนียมหรือฝากโทเคนเพื่อการพัฒนาใดๆ และยังมี Polygon SDK ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กแบบโมดูลาร์ที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งรองรับการสร้างและเชื่อมต่อ Secured Chains ที่ใช้มาตฐานความปลอดภัยของ Ethereum ในการดูแลและตรวจสอบธุรกรรม และ Standalone Chains ที่มีความอิสระในการจัดการ มีกลุ่มผู้ตรวจสอบความถูกต้องของตนเองตามผู้สร้างเครือข่าย





มากกว่านั้น เสน่ห์ของ Polygon ยังมีเพิ่มเติมอีกดังต่อไปนี้:



1.การทำธุรกรรมที่รวดเร็ว

เนื่องจาก Polygon เป็นเชนที่ทำงานขนานกับเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ทำให้การทำธุรกรรมไม่จำเป็นต้องไปแออัดอยู่ที่เชนหลัก และ Polygon เองก็มีการตรวจสอบธุรกรรมที่ค่อนข้างเร็วอยู่แล้ว นั่นทำให้มีการทำธุรกรรมที่รวดเร็วนั่นเอง



2. ความสามารถในการปรับขนาด

ด้วยการแก้ไขปัญหาการปรับขนาดของ Polygon ที่ใช้ Plasma Chains และ PoS Chain ทำให้เครือข่ายสามารถรองรับธุรกรรมที่มหาศาลและมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้



3. ค่าธรรมเนียมต่ำ

จากการที่ไม่ต้องเกิดความแออัดของธุรกรรมและมีความเร็วที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมนั้นถูกลงอย่างมาก



4. การชำระเงินแบบไมโครเพย์เมนต์

คุณสามารถใช้ The Matic Wallet ในการเข้าถึงการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว หรือเชื่อมต่อแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (Decentralized applications : dApps) ได้อย่างง่ายดาย





เทคโนโลยีที่น่าสนใจ

รูปภาพจาก goldmannstaxx



1. Plasma



Polygon มีการปรับขนาดโดยการใช้ Plasma หรือก็คือ ชื่อเรียกสถาปัตยกรรมการแก้ปัญหาเรื่องการปรับขนาดของ Ethereum โดย Polygon ใช้สิ่งที่เรียกว่า Matic Plasma Chains ในการแก้ปัญหา

รูปภาพจาก finematics



Plasma Chain เกิดขึ้นจากการสร้างสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และมีการจัดระเบียบโครงสร้างของข้อมูลที่มีการเข้ารหัสเป็นทอดๆเพื่อป้องกันการแก้ไขและใช้อ้างอิง (Merkle Tree) โดยจะสามารถสร้างเชนย่อยได้ไม่จำกัดจำนวนตามกันเป็นทอดๆลักษณะเหมือนรากของต้นไม้

รูปภาพจาก finematics



2. Side chain



Side chain คือ บล็อกเชนที่มีกลไกฉันทามติของตัวเอง ทำงานคู่ขนานกับเชนหลักอย่าง Ethereum โดย Polygon มี PoS Chain เป็น Side chain ที่ใช้ฉันทามติ Proof-of-Stake และ บล็อกเชนหลักกับ Side chain สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างกันได้ การนำ Side chain มาใช้นั้นสามารถช่วยให้การทำธุรกรรมในเชนหลักเบาบางลงได้ คล้ายกับการใช้วิธีแก้ปัญหาการปรับขนาดบน Layer-2 ด้วย Plasma

อ้างอิงจากเว็บไซต์ Coinmarketcap เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2022 MATIC คือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงสุดอันดับที่ 15 โดยมีมูลค่าตลาดรวมกันประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.9 แสนล้านบาท โดยจำนวนเหรียญ MATIC ทั้งหมดมีอยู่ที่ 10,000,000,000 เหรียญ และมีเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดที่ 7.46 พันล้านเหรียญ 



มากกว่านั้น MATIC เคยทำราคาสูงสุดที่ 95.41 บาท และ ณ เวลาที่เขียนนี้ ราคากำลังเคลื่อนไหวอยู่แถว 66.08 บาท





สรุป



Polygon คือหนึ่งเครือข่ายที่สร้างคลื่นความสนใจในแพลตฟอร์มไม่เบาในช่วงระยะที่ผ่านมา ด้วยการทำงานที่อิงจากโครงสร้าง Ethereum ซึ่งแก้ปัญหาด้านการรองรับจำนวนผู้ใช้ ความล่าช้าการประมวลผล หรือความแออัดของรายการธุรกรรม

ความคืบหน้าของ Polygon และโทเคน​ MATIC จะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามกันในอนาคตต่อไป





อ้างอิง:



Github - whitepaper, Polygon, Blog - Polygon, gemini, BinanceAcademy, Polygon - Dev

Crypto

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด