Smart Contract คืออะไร?

Smart Contract คืออะไร?

Smart Contract คืออะไร? และมีการทำงานอย่างไร?

Smart Contract คือสัญญาอัจฉริยะถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกช่วงปี ค.ศ. 1990 ด้วยแนวคิดของ Nick Szabo และต่อมาจึงถูกนำไปใช้กับคริปโทเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชน ด้วยการเขียนโค้ดเพื่อระบุข้อตกลงระหว่างบุคคล ใกล้เคียงกับสัญญาบนโลกแห่งความเป็นจริง แต่ถูกสร้างเป็นรูปแบบดิจิทัล ที่สะดวก ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยปราศจากตัวกลาง Smart Contract เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นบนโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ในปี ค.ศ. 2015 เมื่อผู้ใช้สามารถสร้าง Smart Contract เป็นของตัวเองบนเครือข่ายบล็อกเชนของ Ethereum ก่อให้เกิดการใช้งานรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (dApps) หรือโทเคนต่าง ๆ นั่นเอง 

เมื่อคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบัน ไม่ได้มีจุดเด่นแค่เพียงการรักษามูลค่าทางการเงิน (Store of Value) หรือความสะดวกในการโอนมูลค่าระหว่างบุคคล แต่สามารถสร้าง Smart Contract ได้ จะเป็นอย่างไร มาดูไปพร้อม ๆ กันได้เลย





ประโยชน์และการทำงานของ Smart Contract คืออะไร?



การทำงานของ Smart Contract คือการทำสัญญาระหว่างบุคคลที่มีการจัดเก็บสำเนาของชุดสัญญานั้น ๆ ไว้ภายในบล็อกเชน หากเทียบกับสัญญาปกติ การมีนักกฎหมายหรือตัวกลางที่คอยร่างสัญญานั้น จะช่วยป้องกันการฉ้อโกงได้ เพราะผู้ทำสัญญาได้มีการลงนามร่วมเพื่อปกป้องสิทธิ์ของกันและกัน



ทว่า สัญญาอัจฉริยะ เมื่อผู้ทำสัญญาสามารถบรรลุเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกไว้ ระบบก็จะอนุมัติรางวัลที่ได้ระบุไว้ภายในสัญญา ซึ่ง Smart Contract สามารถร่างขึ้นด้วยโค้ดหรือภาษาโปรแกรม (Programming Language) บนบล็อกเชนที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละเครือข่าย เช่น Solidity บน Ethereum, Haskell บน Cardano, หรือ Rust บน Polkadot เป็นต้น





ข้อดีและข้อเสียของ Smart Contract



Smart Contract คือสัญญาที่จัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล และสามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ เพราะระบบมีการทำงานแบบอัตโนมัติเมื่อผู้ทำสัญญาบรรลุเงื่อนไขที่ถูกระบุไว้ ระบบก็จะทำงานต่อทันทีตามที่ได้ถูกกำหนดไว้

ในแง่ของความปลอดภัย Smart Contract คือสัญญาที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนถือว่ามีทั้งความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และโปร่งใส อันเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีดังกล่าว ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบสัญญาได้เสมอ ช่วยให้ป้องกันการทุจริตได้อย่างง่ายดาย เพราะสำเนาของสัญญาก็ถูกจัดเก็บไว้ในบล็อกเชน ที่ไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาภายในได้เลย



มากไปกว่านั้น เมื่อ Smart Contract คือโปรแกรมที่ทำงานโดยอัตโนมัติ สัญญาอัจฉริยะสามารถออกแบบหรือปรับแต่งได้ตามความต้องการเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ผู้ทำสัญญาไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง และลดโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ได้อีกด้วย



ในแง่ของการทำงานของสัญญาอัจฉริยะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพไปพร้อม ๆ กัน แต่ผู้สร้างสัญญาจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างการทำงานอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อป้องกันปัญหาของสัญญาที่เรียกง่าย ๆ ว่า บั๊ก (Bug) ที่อาจก่อให้เกิดการสูญหายของสินทรัพย์และมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถืออีกด้วย





Smart Contract สร้างการใช้งานหรือการประยุกต์ใช้ร่วมกับอะไรได้บ้าง?

สำหรับการใช้งานบนโลกดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี Smart Contract คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดการใช้งาน (Use Cases) ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น DeFi (Decentralizaed Finance) ที่ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่เข้ามาตั้งแต่ยุคแรก ๆ และได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก โดยสังเกตจาก Total Value Locked (TVL) ที่ถือเป็นมูลค่าของสินทรัพย์ที่ถูกฝากไว้ภายในแพลตฟอร์ม ซึ่งเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด



นอกจากนั้น การใช้งาน Smart Contract คือสัญญาที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักพัฒนา และระบบสามารถทำงานได้ด้วยตัวของมันเอง ตราบใดที่ผู้ใช้ได้บรรลุเงื่อนไขภายในสัญญา ซึ่งนอกเหนือจาก DeFi แล้วก็ยังมี GameFi ที่เป็นการประยุกต์การเงินแบบใหม่ร่วมกับเกมให้ผู้เล่นสามารถเพลิดเพลินไปกับการเล่นเกมและยังสามารถสร้างรายได้จริง ระหว่างการเล่นได้อีกด้วย!



NFT หรือ Non-Fungible Token คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ซึ่ง NFT สามารถเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางศิลปะ ผลงานดนตรี วิดีโอ ที่ดินในโลกแห่งความเป็นจริง และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้มีการทำงานของ Smart Contract อยู่เบื้องหลังทั้งหมด



สรุป



Smart Contract คือสัญญาในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติเมื่อบรรลุเงื่อนไขที่ถูกระบุไว้ เมื่อนำ Smart Contract มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้เกิดเป็นแอปพลิเคชันที่อยู่บนบล็อกเชน หรือ dApps, DeFi, NFT และการใช้บล็อกเชนที่เปิดกว้างมากขึ้นนั่นเอง





อ้างอิง:



IBM, Investopedia, Finematics, Ethereum

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.