ทฤษฎี Wyckoff Logic คืออะไร?

ทฤษฎี Wyckoff Logic คืออะไร?

ทฤษฎี Wykoff ช่วยอะไรได้?



Wyckoff Logic คือทฤษฎีการวิเคราะห์ตลาดที่คล้ายกับ ทฤษฎีดาว (Dow Theory) ซึ่งเป็นกระบวนการเกิดแนวโน้มต่าง ๆ โดยอาศัยความเป็นเหตุเป็นผลที่จับต้องได้ และเกิดซ้ำ ๆ จนเป็นวัฏจักรตลาด 



กฏพื้นฐาน 3 ข้อ ของ Wyckoff



1. กฏแห่งอุปสงค์ และ อุปทาน



ว่าด้วยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ หรือความต้องการซื้อ และ อุปทาน หรือความต้องการขาย

หากอุปสงค์ มากกว่า อุปทาน ราคาของสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้น หากอุปสงค์ น้อยกว่า อุปทาน ราคาของสินทรัพย์จะลดลง

หากอุปสงค์ เท่ากับ อุปทาน ราคาจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หรือมีความผันผวนต่ำ



2. กฏของเหตุและผล



การสะสม (Accumulation) คือต้นเหตุที่ส่งผลให้ราคาเกิดแนวโน้มขาขึ้น การแจกจ่าย (Distribution) เป็นเหตุให้ราคาเกิดแนวโน้มขาลง



3. กฎแห่งความพยายามกับผลลัพธ์



ความพยายาม (Effort) ในที่นี้หมายถึง ปริมาณซื้อขาย หากทิศทางของราคาสอดคล้องกับปริมาณซื้อขาย ก็อาจมีโอกาสที่ราคาจะดำเนินต่อไปตามแนวโน้ม หากทิศทางราคาไม่สอดคล้องกับปริมาณซื้อขาย อาจหมายความว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นกำลังจะหยุด หรือมีการเปลี่ยนทิศทางในเวลาอันใกล้





หลัก 5 ประการของ Wyckoff



1. กำหนดแนวโน้ม



การวิเคราะห์โครงสร้างตลาด อุปทาน และอุปสงค์ของคุณบ่งบอกถึงทิศทางที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้



2. เลือกทรัพย์สินให้สอดคล้องกับเทรนด์



มองหาสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มสอดคล้องกับตลาดส่วนใหญ่ หรือมองหาสินทรัพย์ที่มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แต่ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ ว่าสมควรที่จะลงทุนหรือไม่ ไม่ใช่ว่าดูแค่เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว



3. มองหาสินทรัพย์ที่มีสาเหตุเพียงพอ



ควรทำการซื้อขายเมื่อมี "สาเหตุ" ที่สำคัญต่อ "ผลกระทบ"



4. ดูแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหว



ในระหว่างที่ราคากำลังวิ่ง มันมักจะมีคำใบ้ซ่อนอยู่ หรือแสดงให้เห็นถึงการทดสอบตลาดว่า จะมีแนวโน้มอย่างไรต่อไป จากจุดนี้เราควรเฝ้าสังเกตุและวิเคราะห์ว่า เรากำลังอยู่ในจุดไหนในเทรนด์ใหญ่ ราคามีแนวโน้มที่จะไปต่อ, ร่วงลง หรือจะเป็นแค่การทดสอบ



5. ตัดสินใจ และ พร้อมที่จะออก



ราคามักมีจุดกลับตัวเสมอ เมื่อราคาไปถึงจุดที่ควรจะออกก็ต้องออก ห้ามลังเล ให้ทำตามวินัยและระบบ โดยอาจใช้เครื่องมือทางเทคนิคเพื่อประกอบการตัดสินใจขายออก แล้วรอวันที่ราคากลับมาอยู่ในจุดที่ควรเข้าซื้อ หรือมองหาโอกาสจากสินทรัพย์อื่น ๆ ระหว่างนี้





วัฏจักรราคา Wyckoff (Wyckoff Price Cycle)



วัฏจักรราคาของ Wyckoff จะคล้าย ๆ กับวัฏจักรราคาของทฤษฎีดาว แต่จะมีการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนกว่า เรียกว่าแบบแผนของ Wyckoff (Wyckoff Schematics) โดยมีรายละเอียดดังนี้



1. ระยะสะสม (Accumulation)



มีด้วยกัน 5 Phase ดังนี้



Phase A



คือช่วงจังหวะของการร่วงลงระยะสุดท้าย และมีการแบ่งแยกเพิ่มเติมสำคัญดังนี้



Preliminary Support (PS) คือจุดที่เริ่มมีแรงซื้อกลับคืนเพราะคาดว่าราคาลงมาจุดต่ำสุดแล้ว



Selling Climax (SC) คือจุดที่ราคาร่วงหนักอีกครั้ง จะเป็นแท่งแดงใหญ่ และมีปริมาณซื้อขายที่มาก



Automatic Rally (AR) คือจุดที่ปรากฏหลังจากที่มีการเทขายรอบใหญ่กันแล้ว แรงซื้อกลับคืนก็เริ่มมีมากขึ้น และราคาก็พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง



Secondary Test (ST) คือจุดที่ราคาพุ่งขึ้นมาจนอ่อนแรงอีกครั้ง และร่วงลงมาทดสอบจุด SC หากราคาร่วงต่ำกว่าจุด SC ระยะสะสมนี้อาจต้องยืดเวลาออกไปอีก เนื่องจากแรงเทขายยังมีอยู่



โดยช่วงราคาระหว่างจุด AR มาถึงจุด SC หรือ ST จะเรียกว่ากรอบซื้อขาย (Trading Range)





Phase B



คือจังหวะที่มีการซื้อสะสมเพื่อรอแนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่ เกิด Sideway ระยะหนึ่ง และแกว่งตัวค่อนข้างรุนแรง พร้อมปริมาณการซื้อขายที่มหาศาลเพราะนักลงทุนรายใหญ่ต้องการเขย่าราคาให้นักลงทุนรายย่อยขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อที่จะซื้อสะสมในราคาถูก



Phase C



หลังจากที่สะสมสินทรัพย์ราคาถูกกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นช่วงทดสอบแรงเทขายอีกครั้งว่าจะมีราคาถูกกว่านี้หรือไม่ ซึ่งอาจมีนักลงทุนบางส่วนที่ยังอยากขายอยู่ ราคาก็จะร่วงทะลุแนวรับเดิม แล้วเด้งกลับขึ้นมาอยู่ในกรอบ TR ในเวลาอันสั้น แบบนี้เรียกว่า “Spring”



จุด Test เป็นจุดที่นักลงทุนรายใหญ่ทดสอบตลาด ด้วยการเทขายตลอดเวลาที่ราคาเคลื่อนไหวภายในกรอบการซื้อขาย หากมีแรงเทขายออกมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ระหว่างการทดสอบ ตลาดจะไม่เกิดการพุ่งทะยานขึ้นไป (Mark up) ทำให้นักลงทุนรายใหญ่อาจยังไม่ไล่ราคา และรอจนกว่าแรงเทขายจะหมดไปเสียก่อน จึงจะกลับมาไล่ราคาอีกครั้ง และเกิดการพุ่งทะยาน



Phase D



เกิดแท่งเทียนสีเขียวยาว พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก และจากนั้นราคาจะพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ระหว่างทางจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมากดดันราคาให้ร่วงลงมาเป็นระยะ ๆ  ดังนี้



Back-up (BU) คือจุดที่ราคาจะต้องพุ่งทะยานทะลุผ่านกรอบแนวต้าน (Trading Range) ขึ้นไปได้สำเร็จ พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก แม้ราคาจะพุ่งขึ้นไปได้อย่างร้อนแรง และมีการเทขาย ก็ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากเป็นธรรมชาติของการลงทุน (เมื่อราคาวิ่งขึ้นไปมาก การถูกเทขายเพื่อทำกำไรถือเป็นเรื่องปกติ)



โดยการร่วงลงของราคาจะไม่ลึกมาก (แต่ก็มีโอกาสหลุด Low เดิมได้) และปริมาณการซื้อขายอาจลดน้อยจากช่วงที่ Breakout กรอบแนวต้าน หากเป็นเช่นนี้ ณ จุดนี้ จะเป็นจุดซื้อที่ดี เพราะจากนี้ไปจะเกิดการฟื้นตัว เพื่อกลับขึ้นไปยืนเหนือกรอบซื้อขาย (Trading Range) อีกครั้ง



Last point of support (LPS) คือช่วงที่ราคาฟื้นตัวจากจุด Low ก่อนหน้านี้ และเป็นการพุ่งทะยานขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุด ๆ หนึ่งที่อาจเป็นจุดสูงสุด (Peak) ของรอบนี้ และกลายเป็นจุด SOS



Sign of Strength (SOS) จะเกิดขึ้นหลังจากที่ราคาขึ้นมาถึงจุดสูงสุด และร่วงลงไปเพื่อทดสอบแรงขาย แล้วถ้าราคาก็สามารถยืนเหนือแนวรับได้ ก็จะเป็นสัญญาณของขาขึ้น



Phase E



หลังจากที่ราคาสามารถ Breakout แนวต้านของ Trading Range ขึ้นไปได้แล้ว จากนั้นจะเกิดการไล่ราคา โดยราคาจะวิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง (Rally) แม้จะมีบางช่วงที่มีแรงเทขายออกมา แต่เป็นเพียงแค่ระยะสั้น ๆ สุดท้ายราคาก็วิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่



2. ระยะไล่ราคา (Mark Up / Uptrend)



ในระยะนี้ ราคาจะมีทิศทางขาขึ้นค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะดูได้ง่าย มีการไล่ราคากันอยู่เรื่อย ๆ สลับกับทยอยขายทำกำไร แต่เมื่อใดที่ราคาเคลื่อนไหว Sideway นาน ๆ หรือมีสัญญาณที่แนวโน้มขาขึ้นจะเปลี่ยนเป็นขาลงในอนาคตอันใกล้ ก็ต้องระวังไว้ เพราะนี่อาจเป็นจุดสูงสุดของขาขึ้น



3. ระยะแจกจ่าย (Distribution)



มีด้วยกัน 5 Phase ดังนี้ และมีการแบ่งรายละเอียดดังต่อไปนี้



Phase A



คือช่วงของการขึ้นระยะสุดท้าย



Preliminary Supply (PSY) คือจุดที่ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง จากการเข้ามาของนักลงทุนที่เห็นแนวโน้มขาขึ้นและไล่ราคากัน



Buying Climax (BC) คือจุดที่ราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีกครั้ง จะเป็นแท่งเขียวใหญ่ สำหรับจุดนี้นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนที่เชี่ยวชาญจะเริ่มทยอยขายทรัพย์สินออกเพื่อทำกำไร



คือ คือจุดที่ปรากฏหลังจากที่มีการเข้าซื้อกันจนราคาพุ่งไปสูงมากแล้ว ก็เริ่มมีการทยอยขาย หรือเทขายกันเกิดขึ้น ทำให้ราคาร่วงลงมา ซึ่งเราจะใช้จุดนี้เป็นแนวรับสำคัญสำหรับการดูกรอบซื้อขาย



Secondary Test (ST) คือจุดที่ราคาร่วงจนแรงขายอ่อนแรง และมีแรงซื้อกลับมาทดสอบที่จุด SC หรือใกล้เคียงจุด BC อีกครั้ง



Phase B



ทุกอย่างจะคล้ายกับ Phase B ในระยะสะสม (Accumulation) แต่ในทางกลับกัน เป็นจุดที่นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทยอยเทขายทำกำไรออกมา แต่จะยังไม่เทขายออกมาอย่างหนัก ทำให้ราคาเกิดรูปแบบ Sideway หลังจากนั้น หากแรงขายจะเริ่มมากกว่าแรงซื้อ จะทำให้เกิดจุดต่ำสุดใหม่ (New Low) ที่หลุดแนวรับในกรอบซื้อขาย เรียกว่า “Sign of weakness” (SOW) ที่เป็นการส่งสัญญาณว่า กำลังจะเข้าสู่ขาลง



จากนั้นจะเกิดจุด Upthrust (UT) คือการร่วงลงของราคา เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนเห็นว่าราคาขึ้นมาอยู่ในจุดที่สูงมากแล้ว ซึ่งระยะนี้จะคล้ายกับ “Spring” ในระยะสะสม (Accumulation) หลังจากนั้นราคาจะร่วงลงมา



Phase C



หลังจากที่ราคาร่วงลงมา ก็จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกครั้งคือ มีการเข้าซื้อของนักลงทุน แต่รอบนี้อาจมีนักลงทุนรายใหญ่ทดสอบแรงซื้อีกครั้ง โดยการผลักดันราคาให้พุ่งสูงขึ้นไปอีก ทำให้เกิด Upthrust after distribution (UTAD) ซึ่งก็คือการที่ราคาพุ่งขึ้นไปจนสุดแล้ว แรงซื้อก็ลดลง นักลงทุนส่วนใหญ่ก็เริ่มขายเพื่อทำกำไร



Phase D



ช่วงนี้จะเกิดจุด Last point of supply (LPSY) คือจุดที่ราคามีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาเล็กน้อย เพราะสู้แรงเทขายไม่ได้ ยิ่งเป็นสัญญาณให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอย่างแท้จริง



Phase E



ตลาดได้เข้าสู่ขาลงอย่างเต็มตัวแล้ว อาจจะมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกเป็นระยะสั้นๆ สุดท้ายต้องรอจนกว่า ขาลง จบสิ้น แล้วราคาเปลี่ยนเทรนแนวโน้มเพื่อที่จะเข้าสู่ ระยะสะสมครั้งใหม่



4. ระยะดิ่งเหว (Mark Down / Downtrend)



หลังจากผ่านช่วงแจกจ่ายไปแล้ว ตลาดก็เข้าสู่ขาลง ในช่วงนี้เราอาจจะเจอการเด้งกลับของราคาอยู่เป็นช่วง ๆ หรือที่เรียกว่า “Rebound” ซึ่งในตลาดขาลงนี้ จะสามารถทำกำไรได้ในระยะสั้น ๆ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากหากเข้าซื้อ-ขายออกช้าเกินไป และหลังจากที่ระยะนี้จบลง ก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะสะสม วนเป็นวัฏจักรแบบนี้ต่อไป



จากทฤษฎี Wyckoff Logic แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดว่ามีแนวโน้มใดบ้าง และในแต่ละแนวโน้มก็มีการเคลื่อนไหวของราคาที่มีนัยยะสำคัญ ซึ่งเราสามารถหาโอกาสในการเข้าซื้อหรือขายออกได้ หรือใช้ดูเป็นแนวทางเพื่อวางแผนกรณีที่ราคาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้



ที่สำคัญคือการรู้ว่าเราอยู่ในจุดใดของตลาด จะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรทำอย่างไรกับตลาด เข้าซื้อ ขายออก หรือเฝ้าดูเพื่อรอจังหวะลงทุน





อ้างอิง:



Stockcharts Binance Academy Zyo71 Lucid-Trader

Trading

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.