Web 3.0 คืออะไร?

Web 3.0 คืออะไร?

Web 3.0 คือหนทางสู่อนาคตหรือไม่? 

Web 3.0 คือเว็บไซต์รุ่นที่ 3 ที่กำลังอยู่ในการพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเทคโนโลยีอย่าง Machine Learning และ Big Data มาช่วยประมวลข้อมูล เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วยิ่งขึ้น



การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ประมวลผลได้เร็วขึ้น และนำเสนอข้อมูลที่มีความเหมาะสมได้อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น เช่น หากคุณต้องการไปกรุงโรมที่อิตาลี เว็บไซต์ 3.0 จะนำเสนอข้อมูลของสถานที่พร้อมกับรายละเอียดสายการบิน และบริการอื่น ๆ ควบคู่กัน โดยอ้างอิงความสนใจของแต่ละบุคคลอีกด้วย



ส่วนเว็บไซต์ที่คุ้นเคยในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่ 2 ที่สามารถเก็บข้อมูลหรือความสนใจต่าง ๆ เพื่อนำเสนอสิ่งที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้ใช้ได้ ซึ่งในเทคโนโลยีนี้มีการควบคุมของข้อมูลที่ได้รับมาอีกที 



แตกต่างกับเว็บไซต์ 3.0 ที่จะมุ่งเน้นในการกระจายอำนาจ (Decentralization) ปราศจากตัวกลาง ไม่มอบสิทธิในการเป็นเจ้าของข้อมูลให้ใครโดยตรง หรือที่เรียกว่าการรวมอำนาจ (Centralization)





พัฒนาการของเว็บไซต์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน



เว็บไซต์มีทั้งหมด 3 รุ่น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันที่ชัดเจน เช่น เว็บไซต์ที่มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูล เว็บไซต์ที่เก็บข้อมูลได้ เป็นต้น สำหรับเว็บไซต์รุ่นต่อไปเป็นอย่างไร เรามาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเถอะ !





Web 1.0



ต้นกำเนิดเว็บไซต์ หรือเว็บไซต์รุ่นที่ 1 ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1990 โดย Tim Berners-Lee มีอีกชื่อเรียกว่า Static Website หรือเว็บไซต์ที่ตอบสนองเพียงทางเดียว หรือนำเสนอข้อมูลได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ต่อได้ โดยผู้ใช้จะไม่สามารถใช้งานฟังก์ชันอื่นได้เลย และภาษาในการเขียนเว็บไซต์ใช้เพียง HTML, CSS, Javascript เป็นต้น





Web 2.0



เว็บไซต์ในปัจจุบันที่เราใช้งานในชีวิตประจำวันคือเว็บไซต์รุ่นที่ 2 เริ่มใช้งานเมื่อปี 2004 เรียกว่า Dynamic Website ที่ผู้ให้บริการสามารถจัดการฐานข้อมูล นำข้อมูลไปใช้งานต่อได้ ซึ่งผู้ใช้ยังสามารถสร้าง ลบ ปรับแต่ง รวมถึงการอัพโหลด ซึ่งเป็นฟังก์ชันใหม่ของเวอร์ชั่นนี้ และข้อมูลที่นำเสนออาจเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับประวัติการใช้งานได้อีกด้วย



เว็บไซต์ 2.0 สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่ Client-side script กับ Server-side script เพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันไป ส่วนภาษาโปรแกรมที่ใช้ในการเขียนคือ PHP, ASP.net, หรือ Javascript เป็นต้น





Web 3.0



เว็บไซต์ 3.0 หรือ Semantic Website ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาสามารถประมวลข้อมูลขนาดใหญ่ได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ข้อมูล และตัดสินใจได้เองด้วยการทำงานของ Machine Learning เพื่อนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน 





พัฒนาการครั้งนี้สำคัญอย่างไร?



การพัฒนาเว็บไซต์ 3.0 มีหน้าที่กำจัดตัวกลางในการครอบครองข้อมูล ช่วยระงับความเสียหายจากการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการ (DoS Attack) และความเสี่ยงจากการถูกระงับการเผยแพร่ข้อมูลโดยองค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลให้การบริการมีความเป็นกลาง และกระจายอำนาจมากที่สุด



เมื่อผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ วัน การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ อาจเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เว็บไซต์ 3.0 สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการรายบุคคลได้ชัดเจนขึ้น ทั้งการนำเสนอข้อมูลไปจนถึงการค้นหาข้อมูลโดยผู้ใช้งาน ด้วยอัลกอริทึมของปัญญาประดิษฐ์ (AI) 



ปัจจุบัน การตลาดหรือการโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ถือว่าเป็นดาบสองคมที่มีทั้งคนชอบ เพราะสามารถทำให้เราเห็นสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่มีความใกล้เคียงกันเพื่อนำมาเปรียบเทียบ หรือคนที่ไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่าถูกรบกวนและไม่มีความต้องการในขณะนั้น เว็บไซต์ 3.0 จะมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลการใช้งานและนำเสนอเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการด้วยอัลกอรึทึมที่ดีกว่าเดิม



การให้บริการลูกค้าทางออนไลน์ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่ไม่ใช่กับทุกบริษัทที่สามารถเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเพื่อสอดคล้องกับความต้องการในขณะนั้น เว็บไซต์ 3.0 จะนำระบบสนทนาอัตโนมัติ (Chatbot) มาช่วยให้บริการลูกค้าหลายคนพร้อม ๆ กัน



ข้อมูลในปี ค.ศ. 2020 แสดงให้เห็นว่า มีผู้ใช้งานเว็บไซต์มากถึง 4.9 พันล้านคน คำนวณจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ (อ้างอิงจาก Wikipedia) การพัฒนาเพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ๆ





Web 3.0 คริปโทเคอร์เรนซี่ และบล็อกเชน เกี่ยวกันอย่างไร?



หลักการของทั้ง 3 สิ่งนี้เชื่อมโยงกันด้วยการกระจายอำนาจ ปราศจากการควบคุม ตรวจสอบและเข้าถึงได้ ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก หากในอนาคตจะมีการทำงานร่วมกันของ 3 เทคโนโลยีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกธุรกรรมผ่านบล็อกเชน หรือการใช้สัญญาอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น



บทบาทของทั้ง 3 เทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาให้มีความคล้ายคลึงกัน การผนวกเข้าด้วยกันในอนาคตเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ตัวอย่างล่าสุด เมื่อเครือข่ายบล็อกเชน Polkadot เริ่มทำงานในช่วงแรก เครือข่ายใช้ระบบฉันทามติแบบ Proof of Authority (PoA) ก็ได้นำบริษัทด้านเว็บไซต์ 3.0 อย่าง Web 3 Foundation มาเป็นผู้ตรวจสอบและอนุมัติธุรกรรม 





สรุป



แม้การพัฒนาครั้งนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต การทำงานในปัจจุบันที่ไม่อาจตรวจสอบได้ หรือถูกควบคุมโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าพอใจเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป



การกระจายอำนาจที่แท้จริง นอกจากจะสามารถช่วยกันดูแลและพัฒนาร่วมกัน ทุกอย่างจะสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ไร้ซึ่งการเอาเปรียบหรือเจตนาแฝงที่อาจส่งผลร้ายต่อผู้อื่น





อ้างอิง:



Wikipedia, Binance Academy, Deloitte, Coinmarketcap, Blockgeeks, Forbes, Pluralsight

Terms

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด