ทำไมบล็อกเชนถึงมีความปลอดภัยสูง

ทำไมบล็อกเชนถึงมีความปลอดภัยสูง

บล็อกเชนปลอดภัยเพราะอะไรกัน?



ทำไมบล็อกเชนถึงมีความปลอดภัยสูง บล็อกเชนมีอะไรพิเศษ และเทคโนโลยีนี้สามารถใช้ได้ทั่วโลกจริงหรือ? คำถามเหล่านี้จะได้รับคำตอบในบทความ มาศึกษาไปพร้อม ๆ กันว่า ทำไมบล็อกเชนถึงมีความปลอดภัยสูง





บล็อกเชนคืออะไร?



ก่อนอื่น ผู้อ่านควรมีความเข้าใจว่าบล็อกเชน คือเทคโนโลยีสมุดบัญชีสาธารณะที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของคริปโทเคอร์เรนซี มีหน้าที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถโอนเหรียญดิจิทัลไปได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่าย โดยมีจุดเด่นที่การกระจายศูนย์อำนาจ (Decentralization) ส่งผลให้ไม่มีบุคคลหรือองค์กรใดสามารถควบคุมการทำงานของบล็อกเชนได้ แต่จะเป็นเหล่าผู้ใช้ หรือโหนด (Nodes) นับล้านทั่วโลกที่คอยตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมด้วยหลักฉันทามติ (Consensus Algorithm) 



หนึ่งขั้นตอนการทำงานที่โดดเด่นของเครือข่ายบล็อกเชน คือการช่วยตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม ซึ่งด้วยการที่บล็อกเชนเป็นสมุดบัญชีสาธารณะ เหล่า Nodes นับแสนหรือล้านคนในเครือข่ายจะได้รับสำเนาของคำสั่งธุรกรรม จากนั้นจึงตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง เมื่อข้อมูลได้รับการยืนยัน บล็อกใหม่จะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บข้อมูล จากนั้นบล็อกใหม่จะถูกนำไปผูกเข้ากับบล็อกก่อน ๆ ข้อมูลเมื่อเข้าไปอยู่ในบล็อกแล้ว จะไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้



ด้วยเหตุผลนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงมีประโยชน์กับหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก เหมาะแก่การรักษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านมูลค่า เนื่องจากไม่สามารถมีมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงการทำงานของเครือข่ายแบบกระจายอำนาจได้





ความปลอดภัยของบล็อกเชน



หากผู้ไม่หวังดีต้องการแก้ไขเครือข่ายบล็อกเชน เขาจะต้องได้รับการยืนยันโดยผู้ใช้ในระบบอย่างน้อย 51% ว่าธุรกรรมปลอมที่ป้อนเข้ามานั้นมีความถูกต้อง

ในทางทฤษฎี การโจมตีรูปแบบดังกล่าวเรียกว่า 51% Attack ซึ่งเป็นการครอบงำเครือข่าย ด้วยจำนวนผู้ใช้อย่างน้อย 51% ของทั้งระบบ เพื่อให้สามารถโกงขั้นตอนการสร้างฉันทามติ (Consensus) ที่จำเป็นต้องได้การยืนยันความถูกต้องของผู้ใช้เกินกว่าครึ่ง



อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การโกงรูปแบบดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องครอบงำเครือข่ายให้ได้มากกว่าครึ่ง รวมถึงต้องใช้ทรัพยากรในการโจมตีมหาศาลด้วยเช่นกัน ซึ่งทรัพยากรในที่นี้หมายถึง อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ หรือคอมพิวเตอร์ รวมถึงต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ดังนั้น การจะโจมตีสำเร็จ ผู้ไม่หวังดีต้องมีอุปกรณ์และใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งเครือข่าย



นอกจากนี้ บล็อกของบล็อกเชนจะเชื่อมต่อกันมาเรื่อย ๆ จากบล็อกก่อนหน้า ส่งผลให้ทุกบล็อกมีข้อมูลของบล็อกก่อนหน้าเป็นส่วนประกอบเสมอ หมายความว่า หากต้องการแก้บล็อกเพียงหนึ่งบล็อก ก็ต้องแก้บล็อกก่อนด้วย ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย





การเข้ารหัส



การเข้ารหัส (Cryptography) คือองค์ประกอบสำคัญของบล็อกเชน ซึ่งเป็นการเข้ารหัสข้อมูลต่าง ๆ บนบล็อกเชนผ่านกลไก Hash Function เพื่อให้เกิดตัวเลขและตัวหนังสือที่สุ่มออกมาเป็นข้อความแสดงผลแทนข้อมูลต่าง ๆ หนึ่งในทฤษฏีการเข้ารหัสก็คือ SHA-256 ที่ใช้ในระบบ Proof-of-Work ของบล็อกเชน Bitcoin ซึ่งการขุด Bitcoin ก็คือการใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสุ่มตัวเลขและตัวอักษรที่จะมาถอดรหัสเหล่านี้นั่นเอง



 

สรุป



เครือข่ายบล็อกเชนคือเทคโนโลยีสมุดบัญชีสาธารณะ ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของคริปโทเคอร์เรนซี เป็นเครือข่ายที่มีความปลอดภัยและโปร่งใสสูง โดยผู้ใช้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ (Immutability) และยังมีประสิทธิภาพในการรับรองระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) ส่งเสริมให้ทั่วโลกสนใจนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปเป็นโครงสร้างสำหรับการใช้งานจริงในอุตสาหกรรมอื่น ๆ 





อ้างอิง

Binance Academy, Investopedia, OpenSource ForU

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด