Stablecoin ไม่ได้ผูกมูลค่าแค่สกุลเงิน Fiat

Stablecoin ไม่ได้ผูกมูลค่าแค่สกุลเงิน Fiat

Stablecoin มีการผูกมูลค่าหลากหลายรูปแบบไม่ไช่แค่ Fiat



สำหรับเหรียญที่มีความผันผวนต่ำอย่าง Stablecoin ที่มีการผูกมูลค่ากับสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการนำสกุลเงินของแต่ละประเทศมาผูกมูลค่า แต่ความเป็นจริงแล้ว มีสินทรัพย์อื่น ๆ ที่สามารถนำมาผูกมูลค่าได้ ซึ่งเป็นความพิเศษของเหรียญประเภทนี้ที่มีความเสถียรของราคาสูง และยังสามารถนำไปแลกเป็นสินทรัพย์ที่ผูกกับเหรียญอีกด้วย

วันนี้ Bitkub Academy จะมาอธิบายว่า Stablecoins สามารถผูกมูลค่ากับอะไรได้บ้าง และมีความแตกต่างอย่างไร? มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเถอะ!





Stablecoins คืออะไร?



Stablecoins จัดเป็นประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเหรียญคริปโตที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ แต่ความแตกต่างของ Stablecoins คือความผันผวนของราคาที่ต่ำมาก ๆ เพราะเหรียญเหล่านี้ถูกผูกมูลค่าเข้ากับสินทรัพย์อื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น สกุลเงินของแต่ละประเทศ คริปโต หรือทองคำ เป็นต้น



Stablecoins ยังมีความเป็นเอกเทศสูงในเรื่องของราคา หากลองสังเกตุความผันผวนของตลาดคริปโต ก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างราคาบิตคอยน์ (Bitcoin) และเหรียญอื่น ๆ (Altcoins) เมื่อใดก็ตามที่ราคาบิตคอยน์ปรับขึ้นหรือลง ราคาเหรียญอื่น ๆ ก็มักจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน แต่ Stablecoins มักจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด





Stablecoins ผูกมูลค่ากับอะไรบ้าง?



จุดเด่นของ Stablecoins คือความผันผวนที่ต่ำ แต่เหรียญเหล่านี้ไม่ได้มีความผันผวนต่ำด้วยตัวมันเอง แต่เป็นเพราะการผูกมูลค่าเข้ากับสินทรัพย์ต่าง ๆ 



การที่เหรียญคริปโตประเภท Stablecoins ได้มีการผูกมูลค่ากับสินทรัพย์ต่าง ๆ นอกจากจะดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ได้มากขึ้นด้วยความผันผวนที่ต่ำได้แล้ว ยังเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะนักลงทุนที่สนใจ ทอง อสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถเข้ามาลงทุนใน Stablecoins ที่ผูกมูลค่ากับสินทรัพย์ดังกล่าวได้ 



มากไปกว่านั้น การลงทุนกับ DeFi ก็สามารถใช้เหรียญคริปโตที่มีความผันผวนต่ำเหล่านี้ มาใช้ในการลงทุนได้อีกด้วย ซึ่งถือว่าขยายบทบาทของคริปโทเคอร์เรนซีได้อย่างมาก ซึ่งวันนี้เราจะมายกตัวอย่างให้ทุกคนเห็นภาพว่า Stablecoins สามารถผูกมูลค่ากบสินทรัพย์อะไรได้บ้าง ไปชมกันเลย!



1. Fiat currency



ถือว่าเป็นที่นิยมที่สุดสำหรับ Stablecoins ที่ผูกมูลค่ากับสกุลเงินของแต่ละประเทศ เช่น ดอลลาร์ หรือ ยูโร ในอัตรา 1:1 ซึ่งความผันผวนของราคาอ้างอิงจากค่าเงิน ณ ขณะนั้น แตกต่างกับคริปโตอื่น ๆ ที่มีความผันผวนของราคาสูงตามกลไกของตลาด



โดยส่วนใหญ่ สกุลเงินที่ถูกนำมาผูกมูลค่ากับ Stablecoins ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD), ยูโร (EUR) หรือ ปอนด์ (GBP) เป็นต้น ซึ่งผู้สร้างเหรียญ Stablecoin จำเป็นต้องสำรองเงินสกุลนั้น ๆ จริง เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ทันทีหากผู้ใช้ต้องการถอน



ตัวอย่าง Stablecoin ที่ผูกมูลค่ากับ Fiat currency ได้แก่ Tether (USDT), USD Coin (USDC) หรือ Stasis Euro (EUR) เป็นต้น



2. Cryptocurrency



เหรียญที่มีความผันผวนต่ำ (Stablecoins) ที่มีการผูกมูลค่ากับคริปโตทั่วไป ทำให้ระบบมีการกระจายอำนาจ (Decentralization) มากกว่าการผูกมูลค่ากับค่าเงินแต่ละประเทศ โดยใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ประกอบการทำงาน



อย่างไรก็ตาม การที่ Stablecoins สามารถควบคุมความผันผวนได้แม้จะผูกมูลค่ากับเหรียญคริปโตทั่วไป 

เป็นเพราะการนำเหรียญคริปโตมาผูกมูลค่าในอัตราที่สูงกว่า (Over-collateral) เช่น นำเหรียญ ETH มูลค่า 2,000 บาทไปผูกมูลค่าหรือค้ำประกัน เพื่อสร้าง Stablecoin มูลค่า 1,000 บาทออกมา ทำให้ Stablecoin ที่ออกมานี้สามารถรับความผันผวนของราคาได้ในระดับหนึ่ง เหรียญที่มีการทำงานรูปแบบนี้ คือเหรียญ DAI เป็นต้น



3. Commodities



เหรียญที่ผูกมูลค่ากับสินทรัพย์โภคภันฑ์ (Commodities) เช่น โลหะล้ำค่าอย่างทองคำ เป็นต้น นอกจากจะมีราคาที่ผันผวนต่ำแล้ว ยังมีโอกาสที่มูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต



ยกตัวอย่าง Digix Gold (DGX) คือโทเคนที่ถูกสร้างบนเครือข่ายของ Ethereum โดย 1 เหรียญมีมูลค่าเท่ากับทองคำ 1 กรัม ซึ่งทองถูกเก็บรักษาไว้ในคลังที่สิงค์โปร ซึ่งจะมีการตรวจสอบปริมาณทองคำทุก 3 เดือนเพื่อให้มีความโปร่งใสสูงสุด และผู้ถือเหรียญ DGX ยังสามารถนำเหรียญไปถอนเป็นทองคำได้อีกด้วย



นอกจากนี้ยังมี Tiberius Coin (TCX) ที่ผูกมูลค่ากับโลหะล้ำค่า, Tether Gold (XAUT) และ Paxos Gold (PAXG) ที่ผูกกับทองคำ และ SwissRealCoin (SRC) ที่ผูกมูลค่ากับอสังหาริมทรัพย์ในสวิส เป็นต้น



4. Algorithm



เหรียญที่ไม่ได้มีการผูกมูลค่ากับสิ่งใด แต่ควบคุมราคาด้วยชุดคำสั่ง (Algorithm) ในสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งจะคอยปรับจำนวนเหรียญ (Supply) ในระบบเพื่อรักษาให้ราคาคงที่ เช่น หากราคาของเหรียญสูงเกิน จำนวนเหรียญจะถูกเพิ่มเข้าในระบบเพื่อกดราคา หากราคาเหรียญต่ำกว่าที่ควร จำนวนเหรียญจะถูกดึงออกจากระบบเพื่อให้มีมูลค่าสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น FRAX (FRAX) หรือ Empty Set Dollar (ESD) เป็นต้น





บทบาทของ Stablecoins



เหรียญที่มีความผันผวนต่ำอย่าง Stablecoin ถือว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่ ๆ ได้กว้างมากยิ่งขึ้น เพราะนักลงทุนที่ต้องการความเสี่ยงต่ำอาจครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ฝากเงินไว้ในธนาคารเพื่ออัตราผลตอบแทน และรักษามูลค่าของเงินต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตอีกด้วย



มูลค่าที่คงที่ถือเป็นจุดเด่น Stablecoins เพราะความผันผวนของราคาที่ไม่เชื่อมโยงกับสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ หากราคาบิตคอยน์ลดลง Stablecoins ก็ยังมีมูลค่าเท่าเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักลงทุนมือใหม่  โดยอาจใช้เพื่อทำความเข้าใจกลไกของตลาดหรือการใช้คำสั่งซื้อขายเบื้องต้น





สรุป



Stablecoins ถือว่าเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ผู้คนยอมรับในสินทรัพย์ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เพราะความผันผวนที่น้อย มีที่มาที่ไป และโปร่งใสตามแนวคิดของเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยสามารถดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ได้อย่างกว้างขวางตามตัวเลือกของสินทรัพย์ที่ผูกมูลค่ากับ Stablecoin



การผูกมูลค่าที่ไม่ได้จำกัดแค่สกุลเงิน Fiat ทำให้นักลงทุนสามารถนำเหรียญไปใช้โลก DeFi รวมถึงสามารถแลกกลับเป็นสินทรัพย์ประเภทที่ใช้ผูกมูลค่าได้ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ที่หลากหลายกว่าการซื้อขายบนกระดานเทรดเพียงอย่างเดียว



ปัจจุบัน การลงทุนทุกรูปแบบล้วนมีความเสี่ยง แม้การลงทุนบางประเภทจะให้ผลตอบแทนที่สูงถ้านักลงทุนยอมรับความเสี่ยงได้ การศึกษาข้อมูลของสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน





อ้างอิง: Wikipedia, CBinsights, Investopedia, Gemini

Terms

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด