ความไม่ปลอดภัยของ WiFi สาธารณะ

ความไม่ปลอดภัยของ WiFi สาธารณะ

WiFi สาธารณะอาจไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด 

ปัจจุบัน ไม่ว่าประเทศไหน ๆ ก็มีการให้บริการ WiFi ฟรี ในสถานที่ต่าง ๆ อาทิ สนามบิน, ห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านกาแฟ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ 

พูดได้เลยว่า การเลือกร้านกาแฟของใครหลาย ๆ คนในปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องมีบริการ WiFi ควบคู่เสมอ หรือเวลาเดินทางไปต่างประเทศ บริการเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยประหยัดแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต หรือในพื้นที่อับสัญญาณ WiFi ก็สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า



อย่างไรก็ตาม อีกด้านที่พวกเราไม่ควรละเลย ก็คือความเสี่ยงที่เราต้องเผชิญจากการใช้ WiFi สาธารณะเหล่านี้ เพราะ WiFi ในหลาย ๆ พื้นที่ ไม่ได้มีการป้องกันแต่อย่างใด จึงทำให้ง่ายต่อการถูกเจาะเข้าไปโดยผู้ไม่หวังดี 



วันนี้เราจะมาอธิบายเพิ่มเติมว่ารูปแบบของความเสี่ยงที่ต้องเผชิญจากการใช้ WiFi สาธารณะ มีแบบไหนบ้าง พร้อมวิธีเพิ่มความปลอดภัยหากจำเป็นต้องใช้จริง ๆ

 



ความเสี่ยงจากการใช้ WiFi สาธารณะ



แม้ WiFi ที่ให้บริการฟรีอาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดใครหลาย ๆ คนเพราะความสะดวก และ ประหยัดกว่าการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนตัว แต่ถ้าหากไร้ซึ่งการป้องกันใด ๆ ก็ไม่ได้ดึงดูดแค่ผู้ใช้งานทั่วไป แต่จะดึงดูดเหล่าแฮกเกอร์ที่พร้อมจะนำข้อมูลของคนอื่นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต



อ่านแล้วเริ่มเห็นความเสี่ยงของ WiFi สาธารณะหรือยัง? เพราะฉะนั้น เรามาทำความเข้าใจความเสี่ยงที่อาจพบได้หากเชื่อมต่อกับ WiFi สาธารณะกัน โดยสามารถยกตัวอย่างได้ ดังนี้



1.การแทรกแซงด้วยการเป็นตัวกลาง



คือการที่ผู้ไม่หวังดีก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ด้วยการเก็บข้อมูลการกระทำของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ดูรูปภาพตามอินเทอร์เน็ต ซื้อของออนไลน์ โอนเงินผ่านมือถือ ตรวจสอบข้อมูลเชิงธุรกิจ ตลอดจนการกรอกข้อมูลล็อคอินบัญชีส่วนตัวต่าง ๆ ข้อมูลที่เดินทางระหว่างผู้ใช้กับเว็บไซต์จะถูกส่งไปยังผู้ไม่หวังดีทันที และเขาก็จะสามารถนำข้อมูลที่ได้มา ไปใช้ราวกับว่าเป็นตัวเราเลยทีเดียว



2.การเลียนแบบชื่อ WiFi



นับเป็นอีกวิธีในการอาศัยช่องโหว่ของ WiFi สาธารณะ ด้วยการสร้างตัวกระจายสัญญาณที่มีชื่อคล้ายกับ WiFi สาธารณะที่ได้รับการรับรอง เพื่อลวงให้คนเข้ามาเชื่อมต่อ จากนั้นมิจฉาชีพก็จะเข้าถึงข้อมูลของเราได้  ตัวอย่างของการตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกับของจริง เช่น FREEWIFI (WiFi ปกติ) กับ FREEWIFI 2 (ลอกเลียนแบบ) 



นอกจากนี้ เมื่อเราเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ผู้ไม่หวังดีสามารถส่งเราไปเว็บไซต์ที่มีหน้าตาคล้ายกับของจริง เพื่อหลอกให้เรากรอกข้อมูล หรือระหว่างที่ได้เห็นข้อมูลการติดต่อกันระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการ ผู้ไม่หวังดีก็สามารถส่งอีเมลที่คล้ายกับของจริง (Phishing) ให้ผู้ใช้งานเข้าไปในเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาข้อมูลของผู้ใช้ไปใช้ในทางที่ผิดอีกที 

 



วิธีบริหารความเสี่ยง



เราสามารถลดความเสี่ยงในการถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ เพียงแค่เลี่ยงการใช้บริการ WiFi สาธารณะ แต่ในขณะเดียวกัน หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จริง ๆ เราสามารถเพิ่มความปลอดภัยได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้



1.ตรวจสอบกับทางร้านค้า สถานที่ หรือผู้ให้บริการ ว่ามีบริการ WiFi ในชื่ออะไร มีอยู่จริงหรือไม่ หรือเลือกใช้ WiFi ที่มีการเข้ารหัส ซึ่งสามารถสอบถามรหัสกับทางร้านค้าได้ และถ้าเป็นไปได้ก็ควรเชื่อมต่อด้วย VPN (Virtual Private Network) เพราะจะช่วยป้องกันภัยจากผู้ไม่หวังดีได้ 



2.ตรวจสอบคำนำหน้าเว็บไซต์ว่าเป็น HTTPS หรือไม่ และหลีกเลี่ยงการเข้าเว็บที่เป็น HTTP (สังเกตุที่ตัว S) เนื่องจากเว็บไซต์แบบ HTTPS มีจะการป้องกันและถูกเข้ารหัสไว้ พร้อมปิดการแชร์ข้อมูลออนไลน์ (Cloud Sharing) อยู่เสมอ และ อย่าลืมออกจากระบบ (Log out) บัญชีหลังการใช้งานทันที



3.ปิด WiFi หรือ Bluetooth ระหว่างที่ไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ เพื่อป้องกันการเข้าใช้งานโดยอัตโนมัติ และหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เป็นประจำ อย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้งเพื่อลดความเสี่ยงที่ข้อมูลอาจรั่วไหล





สรุป



ปัญหาเล็ก ๆ อย่างการใช้ WiFi สาธารณะมักจะถูกมองข้าม แต่การเรียนรู้เพื่อป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่าการพลาดท่าให้กับผู้ไม่หวังดีแล้วค่อยหันมาป้องกันในวันที่สายเกินไป

สำหรับวิธีการป้องกันความเสี่ยงจากการใช้บริการ WiFi สาธารณะ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเลี่ยงใช้บริการ WiFi สาธารณะ โดยสิ้นเชิง แต่ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ก็ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ WiFi กับเจ้าของสถานที่หรือผู้ให้บริการเสียก่อน และหลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ที่น่าสงสัย หรือกรอกข้อมูลส่วนตัวระหว่างที่ใช้บริการ WiFi สาธารณะ





อ้างอิง:



Binance academy, TechTalks, Norton, e-ChannelNews, Kaspersky

Security

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด