Yield Farming vs. Liquidity Pool ความแตกต่างขององค์ประกอบภายใน DeFi
เมื่อคริปโทเคอร์เรนซีได้รับการยอมรับที่เพิ่มมากขึ้น ก็เกิดช่องทางการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทุกคนก็น่าจะเคยได้ยินคำว่า Staking, Yield Farming, หรือ Liquidity Pool มาไม่มากก็น้อย
แม้ว่าตลาดคริปโทฯ จะมีความผันผวนของราคามากกว่าตลาดอื่น ๆ ส่งผลให้การซื้อมาขายไปในระยะเวลาสั้น ๆ สามารถทำกำไรให้นักลงทุนได้มากกว่าตลาดที่มีความผันผวนน้อย ทว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลสกุลต่าง ๆ ล้วนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้มีนักลงทุนระยะยาวที่ซื้อสะสมอย่างต่อเนื่องหรือก็คือนักลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ต่อมา เมื่อจำนวนนักลงทุนระยะยาวมีมากขึ้น การสร้างผลตอบแทนระหว่างที่ครอบครองคริปโทฯสกุลต่าง ๆ จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในแพลตฟอร์มหรือเครือข่ายต่าง ๆ นั่นเอง
Yield Farming คืออะไร?
Yield Farming คือการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ทำบนแพลตฟอร์ม DeFi (Decentralized Finance) ที่ทำงานโดยอัตโนมัติด้วยสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งผู้ใช้สามารถนำเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีมาลงทุนใน DeFiเพื่อรับผลตอบแทนได้
การนำเหรียญที่นักลงทุนถือครองเข้าไปล็อกในระบบเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง (Liquidity Provider) ให้กับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ซึ่งอาจได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญสกุลเดียวกับที่ฝาก หรือเหรียญอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละแพลตฟอร์มจะกำหนด
เมื่อนักลงทุนที่ฝากเหรียญไว้ในระบบเพื่อมอบสภาพคล่องให้กับ DeFi นอกจากผลตอบแทนที่เป็นค่าธรรมเนียมของผู้ใช้งานแล้ว ยังสามารถได้รับโทเคนของแพลตฟอร์มเพิ่มเติม นักลงทุนสามารถนำโทเคนไปใช้ประโยชน์ต่อ ไม่ว่าจะเป็นการฝาก กู้ยืม หรือมอบสภาพคล่องให้ตลาดต่อไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้สร้างจะกำหนด
หากสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่า Yield Farming มีรูปแบบการทำงานที่ใกล้เคียงกับกระดานซื้อขายที่ใช้ Automated Market Maker (AMM) ที่มีส่วนประกอบอย่าง Liquidity Provider และ Liquidity Pool แทนทีกระดานซื้อขายแบบ Orderbook
Liquidity Pool คืออะไร?
Liquidity Pool เปรียบเสมือนคลังสินทรัพย์ที่รวบรวมเหรียญดิจิทัลที่ผู้ใช้ฝากเข้ามาผ่านสัญญาอัจฉริยะ เพื่อให้กระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Exchange) และแพลตฟอร์มสำหรับกู้ยืม (Lending Platform) รวมถึงบริการทางการเงินอื่น ๆ นำเหรียญไปให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้น
แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีแบบไร้ตัวกลาง อย่าง Decentralized Exchange (DEX) มีการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติอย่าง Automated Market Marker ที่ผู้ซื้อผู้ขายสามารถทำธุรกรรมได้ทันทีโดยไม่ต้องจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่จะเป็นการดึงสินทรัพย์ที่อยู่ในคลังรวม หรือ Liquidity Pool ที่เหล่าผู้มอบสภาพคล่อง (Liquidity Provider) ได้ฝากไว้ ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบริการ และค่าธรรมเนียมนั้นก็จะเป็นผลตอบแทนให้กับผู้มอบสภาพคล่องนั่นเอง
ผลตอบแทนที่ผู้มอบสภาพคล่องจะได้รับ จะคำนวณออกมาเป็น APY (Annual Percent Yield) หรือ APR (Annual Percent Rate) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนใช้พิจารณาเพื่อเลือกลงทุนใน DeFi ตัวใดตัวหนึ่งเพื่อ ซึ่ง APY และ APR อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ขึ้นอยู่กับปริมาณเหรียญภายในระบบ (Total Value Locked)
การฝากเหรียญนั้นมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะฝากเหรียญประเภทเดียว ฝากเหรียญเป็นคู่ หรือฝากหลาย ๆ เหรียญแบบกำหนดอัตราส่วน เช่น DAI, ETH/USDT, หรือ DAI/USDC/USDT เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่าง Yield Farming และ Liquidity Pool
Yield Farming คือการลงทุนผ่านแพลตฟอร์ม DeFi ต่าง ๆ โดยนักลงทุนจะฝากเหรียญเข้าไปใน DeFi เพื่อมอบสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์ม ซึ่งบริการของ DeFi ก็จะมีหลายประเภท ตั้งแต่การแลกเปลี่ยน กู้ยืม หรือปล่อยกู้ เมื่อมีผู้ใช้บริการและจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมก็จะถูกแบ่งให้กับผู้มอบสภาพคล่องเป็นผลตอบแทน
Liquidity Pool คือคลังรวมที่สะสมคริปโทเคอร์เรนซีสกุลต่าง ๆ ที่แพลตฟอร์มยอมรับ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งาน ด้วยระบบการทำงานแบบอัตโนมัติหรือ Automated Market Maker (AMM) ซึ่งกลไกการทำงานถูกออกแบบผ่านการทำงานของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)
ซึ่ง Liquidity Pool เป็นหนึ่งในกลไกภายในระบบการเงินกระจายศูนย์หรือ DeFi (Decentralized Finance) ที่ทุกคนได้ยินกันอย่างหนาหูในปัจจุบัน ขณะที่Yield Farming เป็นชื่อเรียกการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ทำผ่าน DeFi นั่นเอง การทำความเข้าใจในปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยให้นักลงทุนมีภาพในหัวและมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สรุป
ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ได้มีแค่การลงทุนเพียงแค่การซื้อขายเท่านั้น แต่มีการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งการลงทุนที่มีอัตราผลตอบแทนสูงมักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น นักลงทุนควรศึกษาหาข้อมูลเชิงลึก เพื่อประกอบการตัดสินใจการลงทุนอยู่เสมอ
อ้างอิง: Coinmarketcap, Coindesk, Finematics
Blockchain
บทความล่าสุด
โทเคนดิจิทัล| Price Today!
อัพเดทตลาด
เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.